2025-07-25
IDOPRESS
ผู้ว่าแบงก์ชาติ ต้องเป็นคนใน หรือ คนนอก ถึงจะเหมาะสม เลือกจากอะไร หลังจากวิกฤติการเงินปี 2540 ในอดีตมีใครบ้างที่เป็นคนใน คนนอกเป็นได้ไหม
หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบแต่งตั้งนายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ให้นั่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คนใหม่ มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2568 เป็นต้นไป มีวาระการทำงาน 5 ปี
ในการคัดเลือกผู้ว่าแบงก์ชาติคนใหม่ในครั้งนี้ มีการขับเคี่ยว ระหว่างนายวิทัย รัตนากร ซึ่งถือเป็นคนนอกแบงก์ชาติ เป็นบุคคลที่ตามกระแสข่าวคือ ฝั่งการเมืองส่งมา และเป็นคนที่นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ต้องการตัว ในช่วงที่นโยบายการเงินและนโยบายการคลังต้องสอดประสานการทำงาน
ส่วนอีก 1 ราย ที่ถือเป็นตัวเต็งในรอบนี้คือ นางรุ่ง มัลลิกะมาส เป็นคนในและลูกหม้อแบงก์ชาติ ทำงานกับ ธปท. มานานมากกว่า 20 ปี โดยปัจจุบันนางรุ่ง นั่งรองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธปท. ซึ่งเป็นคนที่มีความรู้ความสามารถเข้าใจในด้านเศรษฐกิจและนโยบายการเงิน ถือเป็นภารกิจหลักของ ธปท.
ศึกนี้ คนใน ต้องเป็นฝ่ายต้องผิดหวังอีกครั้ง โดยผู้ว่าแบงก์ชาติ คนที่ 22 ลำดับที่ 25 คนล่าสุด เป็น คนนอก ทำให้เกิดคำถามว่า ผู้ว่าแบงก์ชาติ เลือกจากอะไร เป็นคนนอกแบงก์ชาติ ได้หรือไม่?
ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คนนอก สามารถได้รับการคัดเลือกได้ตามคุณสมบัติที่กฎหมายกำหนดไว้
กฎหมายไม่ได้กำหนดว่าผู้ว่าการ ธปท. จะต้องเป็นคนในของ ธปท. เท่านั้น
ผู้ที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งรวมถึงความรู้ความสามารถและความเชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์หรือการเงินการธนาคาร รวมถึงประสบการณ์อื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการทำงาน สามารถได้รับการเสนอชื่อและคัดเลือกได้
คุณสมบัติทั่วไปที่สำคัญ เช่น มีสัญชาติไทย อายุไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์ในวันที่คณะรัฐมนตรีเสนอชื่อ และไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนด
สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าระดับปริญญาตรีจากสถาบันที่สำนักงาน ก.พ. รับรอง
สามารถทำงานให้แก่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้เต็มเวลา
มีกระบวนการคัดเลือกที่โปร่งใสและเป็นไปตามขั้นตอนที่กำหนด โดยคณะกรรมการคัดเลือกจะพิจารณาบุคคลที่เหมาะสมที่สุดเพื่อเสนอชื่อต่อคณะรัฐมนตรี
“การคัดเลือกผู้ว่าการ ธปท. เปิดโอกาสให้บุคคลภายนอกที่มีคุณสมบัติเหมาะสมสามารถเข้ารับการพิจารณาได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นคนในของ ธปท. เสมอไป”
สำหรับผู้ว่าการ ธปท.ในอดีตที่ผ่านมา เมื่อรวมกับคนล่าสุด มีมาแล้ว 22 คน และคนล่าสุดเป็นลำดับที่ 25 เนื่องจากมีผู้ว่าการ ธปท. บางท่านกลับเข้ามานั่งผู้ว่าการ ธปท. เป็นสมัยที่สอง
หากนับย้อนไปช่วงวิกฤติการเงิน หรือช่วงวิกฤติต้มยำกุ้ง เมื่อปี 2540 มีผู้ว่าการ ธปท. คนนอกกี่คน และคนในมีใครบ้างหรือไม่?
“เริงชัย มะระกานนท์” ระหว่างวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2539-28 กรกฎาคม พ.ศ. 2540
อยู่กับ ธปท.มานาน ตั้งแต่เศรษฐกร จนถึง ผู้ว่าการ ธปท.
เคยทำงานธนาคาร ตำแหน่ง รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย
ดำรงตำแหน่งในช่วงวิกฤติปี 2540 โดยเขาถูก ธปท. ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย 1.86 แสนล้านบาท ต่อมาศาลฎีกาให้เขาพ้นข้อกล่าวหาไม่ต้องชดใช้เงิน
“ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์” ระหว่างวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2540-4 พฤษภาคม พ.ศ. 2541
ทำงานที่ ธปท. รวม 25 ปี จนเป็น ผู้ว่าการ ธปท.
เคยนั่ง รมช.คลัง และเคยรักษาการ รมว.คลัง ในปี 2539 เคยช่วยงานบริหารนโยบายเศรษฐกิจให้กับรัฐบาลหลายชุด
เคยทำงานภาคการเงินการธนาคาร เช่น กรรมการบริหาร ธนาคารกรุงไทย,กรรมการบริหาร ธนาคารนครหลวงไทย เป็นต้น
“หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล (หม่อมเต่า)” ระหว่างวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2541-30 พฤษภาคม พ.ศ. 2544
เข้ารับราชการ ในกระทรวงการคลัง เช่น เศรษฐกรโท สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) จนเป็นรองผู้อำนวยการ สศค.
ผู้บริหารระดับสูงในกระทรวงการคลัง ทั้งอธิบดีกรมบัญชีกลาง อธิบดีกรมสรรพสามิต อธิบดีกรมสรรพากร จนถึงปลัดกระทรวงการคลัง ก่อนมาเป็นผู้ว่าการ ธปท.
เมื่อปี 2540 ขณะเป็นปลัดกระทรวงการคลัง เกิดความขัดแย้งด้านนโยบายการคลังกับรัฐบาลในยุคพลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ และถูกคำสั่งย้ายไปประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จึงลาออกจากราชการทันที ต่อมาได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2541 ในรัฐบาลชวน หลีกภัย
หม่อมเต่า ถูกปลดออกจากตำแหน่งผู้ว่าการ ธปท. เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2544 เนื่องจากไม่เห็นด้วยกับนโยบายของรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ที่ต้องการให้ ธปท. ทบทวนนโยบายด้านดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
“หม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร เทวกุล (หม่อมอุ๋ย)” ระหว่างวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2544-7 ตุลาคม พ.ศ. 2549
เคยทำงานธนาคารกสิกรไทยมาเกือบ 20 ปี ก่อนจะเข้าสู่วงการทางการเมือง เป็นรัฐมนตรีช่วยหลายกระทรวง
ก่อนจะเข้ามานั่งผู้ว่าการ ธปท. เมื่อปี 2544
“ธาริษา วัฒนเกส” ระหว่างวันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2549-30 กันยายน พ.ศ. 2553
เข้าทำงานที่ ธปท. มาโดยตลอด ตั้งแต่ปี 2518 จนก้าวสู่ผู้ว่าการ ธปท. และเป็นผู้ว่าแบงก์ชาติหญิงคนแรกและเพียงคนเดียวในประวัติศาสตร์
ธาริษา เรียนรู้งานใน ธปท. ตั้งแต่ฝ่ายวิชาการ,การชำระเงิน,สถาบันการเงิน,นโยบายการเงิน,สายตลาดเงิน
“ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2553-30 กันยายน พ.ศ. 2558
เคยทำงานที่ ธปท. ในช่วงเริ่มต้นของการทำงาน
เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)
กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย ก่อนจะรับตำแหน่ง ผู้ว่าการ ธปท.
ในสมัยประสาร เป็นผู้ว่าการ ธปท. มีการแทรกแซงจากการเมืองมากที่สุด เนื่องจากเป็นยุค 3 รัฐบาล และมีเหตุการณ์วิกฤติทางการเมืองมากที่สุด และมีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มีเหตุการณ์ทางการเมือง
ดำรงตำแหน่งภายใต้ รมว.คลัง มากถึง 5 คน
มีการแสดงเจตนาจาก กิตติรัตน์ ณ ระนอง ที่เป็นรองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ในสมัยนั้น ว่ามีความคิดจะปลดเขาทุกวัน
“วิรไท สันติประภพ” ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2558-30 กันยายน พ.ศ. 2563
เริ่มต้นทำงานจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ
ก่อนจะร่วมงานกระทรวงการคลัง ผู้อำนวยการร่วม สถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
เป็นผู้บริหารธนาคารไทยพาณิชย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ก่อนจะนั่งผู้ว่าการ ธปท.
วิรไท เข้ามาแก้ไขปัญหาวิกฤติโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจ ตลาดทุน และรายได้ประชาชนจากการตกงาน ขาดรายได้จำนวนมาก
“เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ” ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2563-ปัจจุบัน
เริ่มต้นการทำงานที่ Mckinsey
เข้าทำงาน ผู้อำนวยการร่วม สถาบันวิจัยนโยบายการคลัง กระทรวงการคลัง ร่วมกับ วิรไท สันติประภพ
ก่อนจะไปอยู่อีกหลายแห่ง เช่น ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย,บล.ไทยพาณิชย์,บลจ.ไทยพาณิชย์,EIC ธนาคารไทยพาณิชย์ และกรรมการในหลายคณะกรรมการของ ธปท.
กระแสข่าว เศรษฐพุฒิ ได้รับการทาบทามให้นั่ง ผู้ว่าการ ธปท. ในยุคสมัยรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา จนถึงกับคณะกรรมการคัดเลือกช่วงนั้น ได้ขยายเวลารับสมัคร เพื่อรอการมาของ เศรษฐพุฒิ ผู้ว่าการ ธปท. คนที่ 21
ช่วงรับตำแหน่งในยุคของรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน และรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร เขาได้มีปัญหาความขัดแย้งทางความคิดของนโยบายที่ไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เช่น นโยบายแจกเงินดิจิทัล,แจกเงินชาวนา และนโยบายดอกเบี้ยที่รัฐบาลต้องการให้ปรับลดดอกเบี้ยลง
“วิทัย รัตนากร” เริ่มทำงานวันที่ 1 ตุลาคม 2568
วิทัย ถือเป็นคนนอกแบงก์ชาติ ที่มีความรู้ความสามารถ ทำงานเกี่ยวกับการบริหารเงิน ตลาดทุน และภาคธนาคารมาโดยตลอด ก่อนเข้ารับตำแหน่งผู้ว่าการ ธปท. ได้นั่งผู้อำนวยการธนาคารออมสินเป็นตำแหน่งล่าสุด มีภารกิจทำธนาคารออมสิน เป็นธนาคารเพื่อสังคม
เข้ามาแก้ปัญหาด้านการเงินสายการบินนกแอร์,เข้ามาแก้ปัญหาหนี้ของธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ซึ่งระหว่างนั้นได้นั่งตำแหน่งรองผู้อำนวยการ ธนาคารออมสิน ดูแลทั้งลูกค้าธุรกิจ ภาครัฐ กลุ่มลงทุน และบริหารเงิน
วิทัย ไม่ใช่คนในแบงก์ชาติ และถูกทาบทามให้รับตำแหน่งผู้ว่าการ ธปท.จากรัฐบาลในครั้งนี้ด้วยเช่นกัน