2025-07-25
IDOPRESS
ส่อง 7 ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย คนใน สายเลือดแบงก์ชาติ หลังผู้ว่าแบงก์ชาติคนใหม่ วิทัย รัตนากร คือคนนอก รอพิสูจน์ฝีมือ
หากจะพูดถึงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือผู้ว่าแบงก์ชาติ ที่มีมาแล้วถึง 21 คน และกำลังจะได้คนที่ 22 ในวันที่ 1 ต.ค.นี้ แล้วนับตั้งแต่ปี 2485 ที่มี พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าวิวัฒนไชย ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการแบงก์ชาติ เป็นคนแรก เมื่อวันที่ 27 พ.ย. 2485 เรื่อยมาจนถึงคนล่าสุด คนที่ 22 อยู่ลำดับที่ 25 คือ “วิทัย รัตนากร” ที่ครม.เพิ่งให้ความเห็นชอบไปเมื่อวันที่ 22 ก.ค.ที่ผ่านมา
จะพบว่าผู้ว่าแบงก์ชาติทั้ง 22 คน ส่วนใหญ่แล้วเป็นบุคคลที่มาจากภายนอก หรือส่งตรงมาจากกระทรวงการคลัง ส่วนที่เป็นสายเลือดแท้ ๆ ของแบงก์ชาติ มีเพียงแค่ 7 คน เท่านั้น
โดยเริ่มต้นจาก “ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์” ผู้ว่าการฯลำดับที่ 10 ที่แม้โดยสายเลือดแล้ว อาจไม่ใช่คนแบงก์ชาติแท้ ๆ เพราะย้ายค่ายมาจากกระทรวงการคลัง เพื่อมารับตำแหน่งเป็นรองผู้ว่าการแบงก์ชาติ เมื่อปี 2496 และดำรงตำแหน่งอยู่ 7 เดือน ก่อนโยกย้ายไปเป็นที่ปรึกษาการคลัง ประจำกรุงลอนดอน แล้วกลับมาเป็นผู้อำนวยสำนักงบประมาณ ก่อนได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ว่าการแบงก์ชาติ เมื่อปี 2502 จนถึงปี 2514 ที่ถือได้ว่าเป็นผู้ว่าที่ดำรงตำแหน่งนานที่สุด ถึง 12 ปี และได้รับการขนานนามให้เป็น “บิดาแห่งเศรษฐศาสตร์พัฒนา”
จากนั้นก็เป็น นายพิสุทธิ์ นิมมานเหมินท์ ผู้ว่าการฯ ลำดับที่ 11 ที่ อาจเรียกได้ว่าเป็นสายเลือดแบงก์ชาติ อีกคนหนึ่ง เพราะหลังจากที่เคยเป็นหัวหน้าฝ่ายการคลัง เมื่อปี 2491 เส้นทาง…ในสายแบงก์ชาติ ก็เริิ่มต้นในปี 2496 ในตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายประจำสำนักผู้ว่าการ ก่อนเติบโตเป็นผู้ช่วยผู้ว่าการ เมื่อปี 2499 จนขึ้นเป็นรองผู้ว่าการ เมื่อปี 2508 จนได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเป็นผู้ว่าการฯ เมื่อปี 2514 จนเกษียณอายุ เมื่อปี 2518
คนถัดไป ได้แก่ นายชวลิต ธนะชานันท์ ผู้ว่าการฯ ลำดับที่ 15 ที่เริ่มต้นจาก เศรษฐกร ฝ่ายวิชาการ เมื่อปี 2506 ก่อนขยับตำแหน่งในแบงก์ชาติขึ้นมาเรื่อย ๆ จนนั่งเก้าอี้ผู้ว่าฯ เมื่อ ปี 2533 แต่ดำรงตำแหน่งเพียงแค่ 6 เดือน จากนั้น… นายวิจิตร สุพินิจ ผู้ว่าการฯ คนที่ 16 ก็มาสืบทอดตำแหน่งต่อ และถือเป็นสายเลือดแบงก์ชาติแท้ ๆ เพราะเริ่มต้นทำงานในแบงก์ชาติ เมื่อปี 2509 ในตำแหน่งเศรษฐกร ก่อนขยับมาเรื่อย ๆ จนถึง ปี 2533 ที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ว่าการฯ จนถึงปี 2539
เช่นเดียวกับนายเริงชัย มะระกานนท์ ผู้ว่าการฯ ลำดับที่ 17 ที่ถือว่าเป็นคนใน เพราะเริ่มต้นตำแหน่งเศรษฐกร ฝ่ายวิชาการ เมื่อปี 2514 ก่อนขยับตำแหน่งเรื่อย ๆ จนถึงเก้าอี้ผู้ว่าการ เมื่อปี 2539 ดำรงตำแหน่งเพียง 1 ปี ก่อนเกิดเหตุวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่อย่างวิกฤติต้มยำกุ้ง
ถัดมา ก็เป็น นายชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ ผู้ว่าการฯ ลำดับที่ 18 ที่ถือเป็นลูกหม้อแบงก์ชาติแท้ๆเช่นกัน เพราะเริ่มงาน ในตำแหน่งผอ.ฝ่ายวิชาการ เมื่อปี 2529 ก่อนขยับตำแหน่งมาเรื่อย ๆ จนได้รับความไว้ใจจากฝ่ายการเมืองให้ไปดำรงตำแหน่ง รมช.คลังและรักษาการรมค.คลัง เมื่อปี 2539 ก่อนได้รับการแต่งตั้งให้กลับมาเป็นผู้ว่าการฯ เมื่อปี 2540 โดยดำรตำแหน่งเพียงแค่ 10 เดือน
ขณะที่ผู้ว่าการแบงก์ชาติโดยแท้อีกคนหนึ่ง ต้องยกให้กับ นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการฯ ลำดับที่ 21 ที่เริ่มต้นการทำงานที่แบงก์ชาติมาตั้งแต่ปี 2518 และได้รับปรับตำแหน่งเรื่อยมาจนดำรงตำแหน่งผู้ว่าการฯ เมื่อปี 2549-2553 จนเกษียณอายุ
เช่นเดียวกับนายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการฯ ลำดับที่ 22 ที่ก็ใช้ชีวิตที่แบงก์ชาติมาตั้งแต่ปี 2526 ในตำแหน่งเศรษฐกร ฝ่ายวิชาการ และปรับตำแหน่งเรื่อยมาจนถึง 2535 ก่อนย้ายไปทำงานด้านฝั่งตลาดทุน ด้านตลาดเงินในธนาคารพาณิชย์ จนได้รับแต่งตั้งให้กลับมาเป็นผู้ว่าการฯ เมื่อปี 2553 จนเกษียณอายุ เมื่อปี 2558
มาจนถึงเวลานี้!! ต้องยอมรับว่า กระแสการเรียกร้องที่ต้องการผู้ว่าการฯที่มีสายเลือดแบงก์ชาติแท้ ๆ ก็ยังคงดังกระหึ่มอยู่ไม่น้อยโดยเฉพาะเสียงเรียกร้องจากนักเศรษฐศาสตร์ในบางกลุ่ม แต่จนถึงวันนี้…วันที่รัฐบาลได้เลือกให้ “คนนอก” อย่าง วิทัย รัตนากร เข้ามานำพาองค์กรแบงก์ชาติ ก็คงต้องรอพิสูจน์ฝีมือคนนอกว่าจะเข้าใจ เข้าถึง ประชาชนคนไทยได้มากน้อยแค่ไหน?