เปิดรายได้-กำไร 9 เดือน 7 บิ๊กอสังหาฯ

2024-11-15 HaiPress

เปิดรายได้-กำไร 9 เดือน 7 บิ๊กอสังหาฯ ‘แสนสิริ’ รายได้นำโด่ง 2.8 หมื่นล้านบาท

ท่ามกลางสถานการณ์ทางการเมืองที่ยังไม่นิ่งนอนใจรวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงบางอย่างในรัฐบาลมีผลให้นโยบายและมาตรการต่างๆ ที่มีแผนจะอนุมัติหรือว่าประกาศใช้ต่อเนื่องมาตั้งแต่รัฐบาลก่อนหน้าต้องชะลอและเลื่อนออกไปจนถึงช่วงปลายของไตรมาส 3 ที่ผ่านมา แต่ด้วยกำลังซื้อบางส่วนในตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ยังมีอยู่ ประกอบกับมาตรการกระตุ้นตลาดอสังหาริมทรัพย์จากรัฐบาลที่ประกาศใช้มาก่อนหน้านี้ รวมถึงการกระตุ้นกำลังซื้อของผู้ประกอบการหลายๆ รายผ่านกิจกรรมทางการตลาดที่หลากหลาย ส่งผลให้รายได้และผลกำไรเติบโตต่อเนื่อง และมากกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

นายสุรเชษฐ กองชีพ กรรมการผู้จัดการ พร็อพเพอร์ตี้ดีเอ็นเอ (Property DNA) กล่าวว่า ผู้ประกอบการรายใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ที่มีรายได้รวมมากที่สุดในช่วง 9 เดือน ของปี 2567 คือ กลุ่มแสนสิริ มีรายได้เป็นอันดับ 1 จำนวน 28,877 ล้านบาท โดยรายได้หลักมาจากการขายบ้านในโครงการจัดสรร โดยเฉพาะกลุ่มบ้านลักชัวรี่ที่มีราคาแพง ส่วนคอนโดมิเนียมมีรายได้จากการโอนกรรมสิทธิ์โครงการในต่างจังหวัดในสัดส่วนที่มากกว่ากรุงเทพฯ

อันดับ 2 คือ กลุ่มเอพี (ไทยแลนด์) ที่มีรายได้รวม 27,676 ล้านบาท สัดส่วนของรายได้หลักมาจากการโอนกรรมสิทธิ์บ้านแนวราบมากกว่าคอนโดฯ เช่นกัน และ กลุ่มศุภาลัยตามมาเป็นอันดับที่ 3 ด้วยรายได้กว่า 22,792 ล้านบาท ส่วนกลุ่มเอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น มีรายได้รวมอยู่ที่ 14,454 ล้านบาท และเฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) มีรายได้ 13,534 ล้านบาท

ในส่วนของกำไรสุทธิอาจจะไม่ได้แตกต่างกันมากนัก โดยเฉพาะในกลุ่ม 3 อันดับแรก ที่มีกำไรสุทธิอยู่ในระดับใกล้เคียงกันโดย ศุภาลัย มีกำไรมากเป็นอันดับ 1 จำนวน 4,201 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วถึง 6% เนื่องจากโครงการเปิดขายใหม่บางโครงการได้รับการตอบรับสูงมาก ตามมาด้วย กลุ่มแสนสิริ ที่มีกำไร 4,009 ล้านบาท และ เอพี (ไทยแลนด์) กำไรสุทธิ 3,727 ล้านบาท 

อย่างไรก็ตามทั้ง แสนสิริ และ เอพีฯ อาจจะมีกำไรลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว แต่ก็ยังมากเป็นอันดับที่ 2 และ 3 ขณะที่ผู้ประกอบการรายอื่นๆ ที่ประกาศผลประกอบการออกมาแล้วก็มีผลกำไรที่น่าสนใจ เพราะมีกำไรมากกว่า 1,000 ล้านบาท ทุกรายซึ่งถือว่าเป็นผลประกอบการที่ดีเมื่อเทียบกับปัญหาต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อการซื้อที่อยู่อาศัยในช่วงที่ผ่านมา

สำหรับทิศทางของตลาดอสังหาริมทรัพย์ในช่วงไตรมาส 4 นี้อาจจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงหรือมีปัจจัยบวกที่จะมีผลกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของกำลังซื้อมากนัก เพราะสิ่งที่ผู้ซื้อที่อยู่อาศัยต้องการในปัจจุบันไม่ใช่เรื่องของอัตราดอกเบี้ยที่ลดลง แต่เป็นเรื่องของการอนุมัติวงเงินสินเชื่อ เพราะปัจจุบันสถาบันการเงินมีความเข้มงวดในการขอสินเชื่อเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยค่อนข้างมาก และไม่ค่อยมีการผ่อนปรนหรือประนีประนอมแบบก่อนหน้านี้ ขณะที่ผู้ประกอบการพยายามตรึงราคาขายไม่ให้สูงเกินไปและมีการลดราคาลงด้วยในบางครั้ง หรือมีมาตรการทางการตลาดอื่นๆ ที่ส่งเสริมช่วยเหลือผู้ที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยจริงๆ

ดังนั้นปีนี้อาจจะเป็นปีที่ไม่ได้เห็นการสร้างรายได้หรือกำไรที่ไม่โดดเด่นมากนัก แต่ก็ประเมินว่าจนถึงสิ้นปีจะมีผู้ประกอบการรายใหญ่ที่สร้างรายได้และกำไรได้มากกว่าปีที่ผ่านมา และอาจจะมีผู้ประกอบการบางรายที่ไปถึงเป้าหมายที่วางไว้เมื่อตอนต้นปี

คำปฏิเสธ: บทความนี้ทำซ้ำจากสื่ออื่น ๆ วัตถุประสงค์ของการพิมพ์ซ้ำคือการถ่ายทอดข้อมูลเพิ่มเติมไม่ได้หมายความว่าเว็บไซต์นี้เห็นด้วยกับมุมมองและรับผิดชอบต่อความถูกต้องและไม่รับผิดชอบใด ๆ ตามกฎหมาย แหล่งข้อมูลทั้งหมดในเว็บไซต์นี้ได้รับการรวบรวมบนอินเทอร์เน็ตจุดประสงค์ของการแบ่งปันคือเพื่อการเรียนรู้และการอ้างอิงของทุกคนเท่านั้นหากมีการละเมิดลิขสิทธิ์หรือทรัพย์สินทางปัญญาโปรดส่งข้อความถึงเรา
©ลิขสิทธิ์2009-2020 วารสารธุรกิจไทย      ติดต่อเรา   SiteMap