“สสช.”เผยคนไทยเตะฝุ่น 4.1 แสนคน ชี้แรงงานเกษตรโดนผลกระทบจากภัยทางธรรมชาติ

2024-11-12 HaiPress

เผยสถานการณ์ผู้มีงานทำในไตรมาส 3 ปี 2567 จำนวนผู้มีงานทำลดลงเล็กน้อย กลุ่มที่พักแรมและบริการด้านอาหารขยายตัวอย่างต่อเนื่อง กิจกรรมการจ้างงานในครัวเรือนส่วนบุคคลขยายตัวในเกณฑ์สูง

นายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า สสช. ได้สำรวจสถานการณ์แรงงานในไตรมาส 3 ปี 67 พบมีจำนวนประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป 59.24 ล้านคน เป็นผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงาน 40.48 ล้านคน หรือคิดเป็น 68.33% และที่เหลืออยู่นอกกำลังแรงงานประมาณ 18.76 ล้านคน หรือคิดเป็น 31.67% ซึ่งจากกำลังแรงงานรวม 40.48 ล้านคน เป็นผู้มีงานทำจำนวน 40.04 ล้านคน ผู้ว่างงาน จำนวน 4.1 แสนคน และผู้รอฤดูกาล จำนวน 3 หมื่นคน โดยจำนวนผู้มีงานทำลดลง 0.12% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นผลมาจากผู้มีงานทำในภาคเกษตรกรรมลดลง

อย่างไรก็ตาม ผู้มีงานทำนอกภาคเกษตรกรรมขยายตัวเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้าที่มีการขยายตัวในเกณฑ์สูง รวมทั้งกลุ่มที่พักแรมและบริการด้านอาหารยังคงมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และอีกกลุ่มที่น่าสนใจ คือ กิจกรรมการจ้างงานในครัวเรือนส่วนบุคคลที่มีการขยายตัวในเกณฑ์สูงเช่นเดียวกัน

นายภุชพงค์ กล่าวต่อว่า จากจำนวนผู้ว่างงานประมาณ 4.1 แสนคน คิดเป็นอัตราการว่างงาน 1.0% ซึ่งเท่ากับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า ขณะที่ผู้เสมือนว่างงานหรือผู้มีงานทำไม่เกิน 20 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ในภาคเกษตรกรรม และไม่เกิน 24 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ นอกภาคเกษตรกรรมมีแนวโน้มลดลง โดยลดลงถึง 7.7 แสนคน เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า และลดลงต่ำที่สุดเมื่อเทียบ 3 ปีย้อนหลัง

“ในไตรมาสนี้ ยังพบว่าสถานการณ์ผู้ทำงานในภาคเกษตรกรรม มีอัตราเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าถึง 10.54% แต่มีแนวโน้มลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีที่ผ่านมา อันเนื่องจากปัจจัยลบของสภาพอากาศและปริมาณน้ำส่งผลกระทบต่อการผลิตสาขาเกษตรกรรม ผนวกกับในช่วงที่ผ่านมาในหลายพื้นที่ของประเทศไทย ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติส่งผลกระทบอย่างมากต่อผู้ทำงานในภาคเกษตรกรรม ซึ่งแสดงให้เห็นว่าในปีนี้ จำเป็นต้องติดตามสถานการณ์ของผู้ทำงานในภาคเกษตรกรรมอย่างใกล้ชิดต่อไป”

คำปฏิเสธ: บทความนี้ทำซ้ำจากสื่ออื่น ๆ วัตถุประสงค์ของการพิมพ์ซ้ำคือการถ่ายทอดข้อมูลเพิ่มเติมไม่ได้หมายความว่าเว็บไซต์นี้เห็นด้วยกับมุมมองและรับผิดชอบต่อความถูกต้องและไม่รับผิดชอบใด ๆ ตามกฎหมาย แหล่งข้อมูลทั้งหมดในเว็บไซต์นี้ได้รับการรวบรวมบนอินเทอร์เน็ตจุดประสงค์ของการแบ่งปันคือเพื่อการเรียนรู้และการอ้างอิงของทุกคนเท่านั้นหากมีการละเมิดลิขสิทธิ์หรือทรัพย์สินทางปัญญาโปรดส่งข้อความถึงเรา
©ลิขสิทธิ์2009-2020 วารสารธุรกิจไทย      ติดต่อเรา   SiteMap