STA โตแรง Q3 ทำกำไรสุทธิ 517.3 ล้านบาท พุ่งกว่า 226%

2024-11-11 HaiPress

STA โตแรง Q3 ทำกำไรสุทธิ 517.3 ล้านบาท พุ่งกว่า 226% รับปริมาณขายยางธรรมชาติรวมทะลุ 3.8 แสนตัน

นายวีรสิทธิ์ สินเจริญกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่และกรรมการบริหาร บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) หรือ STA ผู้นำธุรกิจยางธรรมชาติครบวงจรรายใหญ่ที่สุดของโลกและผู้ผลิตถุงมือยางอันดับหนึ่งของประเทศไทย เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานไตรมาส 3/2567 เติบโตอย่างแข็งแกร่งจากปริมาณการขายยางธรรมชาติที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และราคาขายยางเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้นอยู่ในระดับสูง โดยบริษัทฯ มีรายได้จากการขายและบริการ 31,618.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 22.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 517.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 226.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมาจากปริมาณการขายยางธรรมชาติรวมทุกประเภทที่เพิ่มขึ้นเป็น 380,565 ตัน เพิ่มขึ้นถึง 53.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และ 15.5% จากไตรมาสก่อนหน้า และเป็นการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง 4 ไตรมาสติดต่อกัน ประกอบกับราคายางเฉลี่ยอยู่ที่ 186.2 เซนต์ต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้น 30% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้นติดต่อกัน 6 ไตรมาส รวมถึงปริมาณซัพพลายยางเข้าสู่ตลาดอยู่ในระดับที่ดีจากการเปิดฤดูกาลกรีดยางได้ตามปกติ นอกจากนี้ กำไรขั้นต้นรวมอยู่ที่ 10.4% ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 8.8% ในปีก่อน เนื่องจากการผสมผสานยอดขายยาง EUDR เข้ากับยางธรรมชาติทั่วไปที่หนุนกำไรเติบโตโดดเด่น อย่างไรก็ดี ธุรกิจถุงมือยางชะลอตัวลงในไตรมาส 3/2567 จากผลกระทบของค่าเงินบาทแข็งอย่างรวดเร็ว แต่มีสัญญาณที่ดีจากปริมาณการขายที่เติบโตถึง 26.3% จากปีก่อนขณะที่ภาพรวมผลการดำเนินงานช่วง 9 เดือนแรกปี 2567 เติบโตได้ดีเช่นเดียวกัน โดยมีรายได้จากการขายและบริการ 81,116.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 29.7% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 816.0 ล้านบาท พลิกจากผลขาดทุนในช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีปริมาณการขายยางธรรมชาติทุกประเภทรวม 1.0 ล้านตัน

นายวีรสิทธิ์ กล่าวต่อว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานไตรมาส 4/2567 คาดว่าจะเติบโตอย่างต่อเนื่องจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งคาดการณ์ปริมาณการขายยางธรรมชาติและราคาขายยางเฉลี่ยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยภายหลังจากที่รัฐบาลจีนออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ช่วงปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา ส่งผลให้ราคายางแท่ง ณ ตลาด SICOM พุ่งสูงสุดแตะ 218.7 เซนต์ต่อกิโลกรัม ซึ่งเป็นราคาสูงสุดในรอบ 7 ปี นอกจากนี้ มาตรการดังกล่าวยังคาดว่าจะส่งผลดีต่อดีมานด์ในอุตสาหกรรมยางธรรมชาติ ส่วนสถานการณ์ความต้องการยาง EUDR บริษัทฯ ยังคงมีคำสั่งซื้อล่วงหน้าในไตรมาส 4/2567 โดยขณะนี้อยู่ระหว่างรอความชัดเจนจากสหภาพยุโรปว่าจะเลื่อนการบังคับใช้กฎหมาย EUDR หรือไม่ จากกำหนดเดิมที่จะเริ่มบังคับใช้ในสิ้นปี 2567 ซึ่งมีผลให้การส่งออกยางธรรมชาติและผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปจากยางธรรมชาติไปยังทวีปยุโรป ต้องผ่านการตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) แหล่งที่มาของผลผลิต เพื่อแสดงว่าไม่ได้อยู่ในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับการตัดไม้ทำลายป่าและไม่ได้อยู่ในพื้นที่บุกรุกป่าในด้านทิศทางอุตสาหกรรมยางในอนาคต คาดว่าแนวโน้มของอุปทานยางพาราจะอยู่ในระดับทรงตัวหรือลดลง ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ควรจับตามอง คือความต้องการใช้ยางในอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งบริโภคยางธรรมชาติถึงร้อยละ 90 ของการบริโภคทั้งหมด จึงมีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางราคายางธรรมชาติในอนาคต

คำปฏิเสธ: บทความนี้ทำซ้ำจากสื่ออื่น ๆ วัตถุประสงค์ของการพิมพ์ซ้ำคือการถ่ายทอดข้อมูลเพิ่มเติมไม่ได้หมายความว่าเว็บไซต์นี้เห็นด้วยกับมุมมองและรับผิดชอบต่อความถูกต้องและไม่รับผิดชอบใด ๆ ตามกฎหมาย แหล่งข้อมูลทั้งหมดในเว็บไซต์นี้ได้รับการรวบรวมบนอินเทอร์เน็ตจุดประสงค์ของการแบ่งปันคือเพื่อการเรียนรู้และการอ้างอิงของทุกคนเท่านั้นหากมีการละเมิดลิขสิทธิ์หรือทรัพย์สินทางปัญญาโปรดส่งข้อความถึงเรา
©ลิขสิทธิ์2009-2020 วารสารธุรกิจไทย      ติดต่อเรา   SiteMap