2024-11-05 HaiPress
มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ร่วมประชุม COP 16 นำเสนอโครงการพัฒนาดอยตุง แก้ปัญหาความยากจนควบคู่กับการดูแลรักษาธรรมชาติ
มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ร่วมคณะผู้แทนไทย ในที่ประชุมโลก COP 16 นำเสนอโครงการพัฒนาดอยตุง เป็นหนึ่งในความสำเร็จของการพัฒนาด้านความหลากหลายทางชีวภาพ จากหลักการแก้ปัญหาความยากจนควบคู่กับการดูแลรักษาธรรมชาติ
การประชุมระดับสูงของภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพสมัยที่ 16 หรือ COP 16 ประเทศโคลอมเบีย โดย ดร.อรนุช หล่อเพ็ญศรี รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานคณะผู้แทนไทย ได้แสดงเจตนารมณ์ของไทยในการร่วมดำเนินการหยุดยั้งการสูญเสียและฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพของโลกภายในปี 2030 และพัฒนาให้มนุษยชาติมีคุณภาพชีวิตที่ดีควบคู่กับธรรมชาติที่สมบูรณ์ภายในปี 2050
การประชุม United Nations Biodiversity Conference of Parties หรือ COP 16 ต่อยอดจากปี 2022 นำข้อตกลง Kunming-Montreal Global Biodiversity Framework สู่การปฏิบัติ โดยประเทศต่าง ๆ มุ่งที่จะปกป้องและฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อเป็นแนวทางสำคัญในการลดก๊าซเรือนกระจก รักษาความมั่นคงทางทรัพยากรของโลก ควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตคน
ภายใต้ COP 16 สมาชิก 192 ประเทศตกลงจะฟื้นฟูพื้นที่เสื่อมโทรมทางธรรมชาติให้ได้ 30% ตลอดจนเพิ่มพื้นที่คุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพทั้งผืนดินจาก 17.6% ในปัจจุบัน และผืนทะเลจาก 8.4% ในปัจจุบัน เป็น 30 ภายในปี 2030 ซึ่งปัจจัยความสำเร็จจะต้องเกิดความร่วมมือจากภาคส่วนต่าง ๆ โดยเฉพาะภาคเอกชนเนื่องจากจะต้องใช้เงินราว 2 แสนล้านดอลลาร์ต่อปี ภายในช่วง 2030
ทั้งนี้ ผู้แทนประเทศไทยได้นำเสนอความก้าวหน้าในการดำเนินงานด้านความหลากหลายทางชีวภาพตลอดจนความพร้อมที่จะร่วมมือกับประชาคมโลกในการสานต่อสู่เป้าหมาย 30×30 ภายในปี 2030 โดยเน้นย้ำถึงความสำคัญของการนำเครื่องมือทางการเงินใหม่ ๆ เพื่อสร้างรายได้ให้กับประชาชนที่ช่วยดูแลรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ และมุ่งดำเนินงานพื้นที่อนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพนอกเขตพื้นที่คุ้มครอง (OECMs)
มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงได้ร่วมนำเสนอบทเรียนของประเทศไทยในการสร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชน ในเวทีการประชุมคู่ขนานระดับสูง “The Nature Investment Facility” จัดโดย UNDP UNCDF และ UNESCO รวมทั้งการประชุมคู่ขนานเกี่ยวกับการผลักดันกลไกการเงินสีเขียวและการเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวกับการจัดการธรรมชาติอย่างโปร่งใส
จากการดำเนินงานโครงการพัฒนาดอยตุงเป็นเวลา 36 ปี และการขยายผลผลงานร่วมกับภาครัฐ เอกชนและชุมชนในการพัฒนาอาชีพและธรรมชาติในป่าชุมชน 11 จังหวัด จนมีชุมชนร่วมกันกว่า 150,000 คน เข้ามาร่วมดำเนินงาน สำนักงานความร่วมมือระหว่างประเทศของประธานาธิบดี Presidential Agency for International Cooperation of Colombia ได้คัดเลือกให้มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงเป็นพันธมิตรความร่วมมือใต้-ใต้ (South-South Cooperation) นำเสนอประสบการณ์ดำเนินงานของประเทศไทย ให้กับตัวแทนภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมโคลอมเบีย ร่วมกับTerrasos องค์กรพัฒนา biodiversity credit ชั้นนำในลาตินอเมริกา เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับโครงการส่งเสริมความหลากหลายทางชีวภาพต่าง ๆ
นอกจากนั้น มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ได้ร่วมเสวนาในงาน “Global Landscape Forum Investment Case Symposium” โดยรัฐบาลลักเซมเบิร์ก รัฐบาลเยอรมนี ในฐานะเป็นกรณีตัวอย่างในการนำนวัตกรรมทางการเงิน ร่วมกับภาคเอกชนและภาคส่วนอื่น ๆ ตอบโจทย์การพัฒนาคุณภาพชีวิตคน ลดโลกร้อน และฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพในเวลาเดียวกัน
หม่อมหลวงดิศปนัดดา ดิศกุล เลขาธิการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงกล่าวว่า “มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงได้รับเกียรติร่วมในคณะผู้แทนไทย นำหลักการทำงานตามพระราชปณิธานสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ในด้านการ “ปลูกป่า ปลูกคน” ซึ่งพิสูจน์ได้ว่าเป็นแนวทางการพัฒนาคุณภาพชีวิตคน รับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และฟื้นฟูธรรมชาติไปด้วยกัน เป็นผลงานของประเทศไทย ที่สามารถเป็นตัวอย่างให้แก่โลกได้”