สรุปค่าเงินบาทแข็งค่า ตามราคาทองตลาดโลก คาดกรอบ 32.80-33.40 บาท

2024-10-21 HaiPress

สรุปค่าเงินบาทขยับแข็งค่าตามราคาทองในตลาดโลก จับตาตัวเลขการส่งออกของไทยในสัปดาห์หน้า คาดกรอบเงินบาท 32.80-33.40 บาทต่อดอลลาร์

“ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” รายงานเงินบาทสัปดาห์ที่ผ่านมาขยับแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยตามจังหวะการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำในตลาดโลกในช่วงต้นสัปดาห์ แต่การเคลื่อนไหวยังค่อนข้างจำกัดในช่วงก่อนผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประกอบกับเงินดอลลาร์ฯ ได้รับอานิสงส์จากการคาดการณ์ว่า เฟดน่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างค่อยเป็นค่อยไปในหลายๆ รอบการประชุมข้างหน้า

เงินบาทอ่อนค่าลงช่วงสั้นๆ ในช่วงกลางสัปดาห์ หลังกนง. สร้างความประหลาดใจให้กับตลาดด้วยมติ 5:2 เสียง ให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% มาที่ระดับ 2.25% แต่ก็สามารถล้างช่วงอ่อนค่าลงทั้งหมดและพลิกแข็งค่ากลับมา โดยมีแรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำในตลาดโลกซึ่งทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ครั้งใหม่

อย่างไรก็ดี การแข็งค่าของเงินบาทยังเป็นไปอย่างจำกัด เนื่องจากเงินดอลลาร์ฯ มีปัจจัยบวกจากข้อมูลยอดค้าปลีกและตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าที่ตลาดคาด ซึ่งหนุนแนวโน้มการทยอยลดดอกเบี้ยของเฟด โดย ณ ขณะนี้ตลาดประเมินว่า เฟดมีโอกาสปรับลดดอกเบี้ยทั้งสิ้นประมาณ 50 basis points ภายในช่วงปลายปี 2567

ในวันศุกร์ที่ 18 ต.ค. 2567 เงินบาทปิดตลาดในประเทศที่ 33.15 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 33.34 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (11 ต.ค. 67) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 15-18 ต.ค. 2567 นั้น นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทยที่ 977 ล้านบาท และมีสถานะอยู่ในฝั่ง Net Outflows ออกจากตลาดพันธบัตรไทย 5,188 ล้านบาท (แบ่งเป็น ขายสุทธิพันธบัตร 5,122 ล้านบาท และตราสารหนี้หมดอายุ 66 ล้านบาท)

สัปดาห์ระหว่างวันที่ 21-25 ต.ค. ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 32.80-33.40 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขการส่งออกเดือนก.ย. ของไทย ทิศทางเงินทุนต่างชาติและสกุลเงินเอเชีย รวมถึงถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด

ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดขายบ้านมือสอง ยอดขายบ้านใหม่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนก.ย. รายงาน Beige Book ของเฟด ดัชนีความเชื่อมั่น/ตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อในมุมมองผู้บริโภค และดัชนี PMI เบื้องต้นสำหรับเดือนต.ค. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ ตลาดยังรอติดตามการกำหนดอัตราดอกเบี้ย LPR ของธนาคารกลางจีน และดัชนี PMI เบื้องต้นสำหรับเดือนต.ค. ของญี่ปุ่น ยูโรโซน และอังกฤษด้วยเช่นกัน

คำปฏิเสธ: บทความนี้ทำซ้ำจากสื่ออื่น ๆ วัตถุประสงค์ของการพิมพ์ซ้ำคือการถ่ายทอดข้อมูลเพิ่มเติมไม่ได้หมายความว่าเว็บไซต์นี้เห็นด้วยกับมุมมองและรับผิดชอบต่อความถูกต้องและไม่รับผิดชอบใด ๆ ตามกฎหมาย แหล่งข้อมูลทั้งหมดในเว็บไซต์นี้ได้รับการรวบรวมบนอินเทอร์เน็ตจุดประสงค์ของการแบ่งปันคือเพื่อการเรียนรู้และการอ้างอิงของทุกคนเท่านั้นหากมีการละเมิดลิขสิทธิ์หรือทรัพย์สินทางปัญญาโปรดส่งข้อความถึงเรา
©ลิขสิทธิ์2009-2020 วารสารธุรกิจไทย      ติดต่อเรา   SiteMap