“เดลินิวส์ ทอล์ก” คึกคัก รัฐ-เอกชนร่วมชี้โอกาสจากซอฟต์พาวเวอร์

2024-10-21 HaiPress

เวทีเดลินิวส์ ทอล์ก 2024 คึกคัก! ภาครัฐ-เอกชน-ประชาชน ตบเท้าร่วมงานฟังคำตอบ "Soft Power : โอกาสประเทศไทย” หวังดันไทยก้าวพ้นรายได้ปานกลาง

เมื่อวันที่ 21 ต.ค.67 ที่ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ กรุงเทพ “เดลินิวส์” ได้จัดงานเสวนา “เดลินิวส์ ทอล์ก 2024” ในหัวข้อ “Soft Power : โอกาสประเทศไทย” โดยได้รับเกียรติจาก น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงาน มี น.พ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองประธานคณะที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ร่วมปาฐกถา ในหัวข้อ “ซอฟต์พาวเวอร์…พลิกฟื้นเศรษฐกิจไทย”

นอกจากนี้ยังมีเวทีเสวนาในหัวข้อ “Soft Power : โอกาสประเทศไทย” โดย น.ส.ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) นายก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) นางศุภลักษณ์ อัมพุช ประธานกรรมการบริหาร เดอะมอลล์ กรุ๊ป นางชฎาทิพ จูตระกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด นางอรุโณชา ภาณุพันธุ์ ผู้จัดละครและกรรมการ บริษัท บรอดคาซท์ไทย เทเลวิชั่น จำกัด และนายชุมพล แจ้งไพร ประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านอาหาร ที่มาร่วมกันถ่ายทอด มุมมอง เพื่อสานฝันให้ซอฟต์พาวเวอร์ไทย เป็นพลังในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และผลักดันให้ประเทศไทยก้าวพ้นจากประเทศที่มีรายได้ปานกลางจนเติบโตอย่างมีศักยภาพและยั่งยืน

ทั้งนี้บรรยากาศตลอดช่วงเช้าเป็นไปอย่างคึกคัก โดยมีคณะกรรมการบริหาร ทั้งนางประพิณ รุจิรวงศ์ นายปารเมศ เหตระกูล นางสิริวรรณ พันธุ์ปรีชากิจ กรรมการบริหาร น.ส.นลิน รุจิรวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายกลยุทธ์องค์กรและการตลาด ร่วมให้การต้อนรับ และยังมีคณะผู้บริหาร กองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ กองบรรณาธิการเดลินิวส์ออนไลน์ พร้อมทีมงาน เดลินิวส์ รวมทั้งมีรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ที่ปรึกษา รวมทั้งผู้บริหารจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาชนที่สนใจ และสื่อมวลชน เข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก

สำหรับการจัดงานเสวนาครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 4 ของปีนี้ ที่เดลินิวส์จัดขึ้นในโอกาสครบรอบ 60 ปี ในปี 67โดยเรื่องของซอฟต์พาวเวอร์ ถือว่ามีส่วนสำคัญในการสร้างโอกาสให้กับประเทศไทย ให้กับคนไทย ขณะที่รัฐบาลได้กำหนดให้เป็นนโยบายหลักเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับเศรษฐกิจ พร้อมตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้ได้อย่างน้อย 4 ล้านล้านบาท หรืออย่างน้อยให้ประชาชนมีรายได้อย่างน้อยครอบครัวละ 2 แสนบาท.

คำปฏิเสธ: บทความนี้ทำซ้ำจากสื่ออื่น ๆ วัตถุประสงค์ของการพิมพ์ซ้ำคือการถ่ายทอดข้อมูลเพิ่มเติมไม่ได้หมายความว่าเว็บไซต์นี้เห็นด้วยกับมุมมองและรับผิดชอบต่อความถูกต้องและไม่รับผิดชอบใด ๆ ตามกฎหมาย แหล่งข้อมูลทั้งหมดในเว็บไซต์นี้ได้รับการรวบรวมบนอินเทอร์เน็ตจุดประสงค์ของการแบ่งปันคือเพื่อการเรียนรู้และการอ้างอิงของทุกคนเท่านั้นหากมีการละเมิดลิขสิทธิ์หรือทรัพย์สินทางปัญญาโปรดส่งข้อความถึงเรา
©ลิขสิทธิ์2009-2020 วารสารธุรกิจไทย      ติดต่อเรา   SiteMap