2024-09-24 HaiPress
THG แจ้งพบการทำรายการต้องสงสัย การปล่อยกู้ของบริษัทย่อย-สั่งซื้อสินค้าโดยไม่มีการส่งมอบจริง รวมมูลค่า 210 ล้านบาท
รายงานข่าวจาก ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ THG แจ้งว่า ภายหลังจากที่บริษัทฯ ได้ทำการเปิดเผยข้อมูลตามหนังสือที่อ้างถึง ซึ่งเผยแพร่ผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2567 ที่ผ่านมา ซึ่งตลาดหลักทรัพย์ฯ สอบถามถึงข่าวที่อดีตประธานกรรมการบริษัทฯ หรือบุคคลอื่นแสดงความเห็นต่อสำนักข่าวถึงกรณีการเผยแพร่ข่าวของบริษัทฯ นั้น
บริษัทฯ ขอยืนยันตามข้อมูลและข้อเท็จจริงของเรื่องดังกล่าว เป็นไปตามที่ปรากฏในหนังสือที่อ้างถึงทุกประการ และอดีตประธานกรรมการบริษัทฯ หรือบุคคลอื่น ซึ่งไม่ได้ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้บริหาร หรือพนักงานที่ได้รับมอบหมาย การให้ความเห็นต่อสำนักข่าวของบุคคลดังกล่าว จึงไม่ใช่การดำเนินงานของบริษัทฯ
บริษัทฯ ขอให้ทุกฝ่ายติดตามข้อมูล ข่าวสาร และการประกาศต่าง ๆ ของบริษัทฯ เกี่ยวกับเรื่องที่เกิดขึ้นตามที่ได้ชี้แจงหนังสือที่อ้าง ถึงและแนวทางการแก้ไขผ่านทาง เว็บไซต์ของตลาดหลักทรัพย์และเว็บไซต์ของบริษัทฯ เท่านั้น
บริษัทฯ ตั้งมั่นอยู่ในธรรมาภิบาลที่ดีและการดำเนินงานด้วยความโปร่งใส ขณะนี้อยู่ระหว่างการวิเคราะห์ผลกระทบของเหตุการณ์ที่อาจมีต่อฐานะทางการเงิน ผลการดำเนินงาน และความเสี่ยงโดยรวมของบริษัทฯ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว การวิเคราะห์ดังกล่าวจะครอบคลุมทั้งด้านการเงิน การดำเนินธุรกิจ และความเสี่ยงด้านกฎหมาย เพื่อให้มั่นใจว่าบริษัทฯ สามารถจัดการกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ
บริษัทฯ จะทำการพิจารณาและวิเคราะห์กระบวนการควบคุมภายใน หากพบว่ามีจุดบกพร่องจะทำการปรับปรุง ตามหลักเกณฑ์การดำรงสถานะบริษัทจดทะเบียน เพื่อป้องกันไม่ให้เหตุการณ์ในลักษณะนี้เกิดขึ้นอีกในอนาคต และเพื่อให้การดำเนินงานของบริษัทฯ นั้นเป็นไปตามกฎหมาย ข้อบังคับ และระเบียบปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง และเป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของบริษัทฯ และผู้ถือหุ้น
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2567 ที่ผ่านมา THG แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ เกี่ยวกับการตรวจพบรายการอันควรสงสัยดังนี้
1. เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2567 คณะกรรมการตรวจสอบของบริษัทฯ ได้รับทราบข้อมูลการทำรายการอันควรสงสัยของบริษัทย่อย จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ (ก) บริษัท โรงพยาบาลธนบุรีบำรุงเมือง จำกัด (THB) ซึ่งบริษัทฯ ถือหุ้นร้อยละ 83.03 และ (ข) บริษัท ที เอช เฮลท์ จำกัด (THH) ซึ่งบริษัทฯ ถือหุ้นร้อยละ 51.22
2. การทำรายการอันควรสงสัยของบริษัทย่อยดังกล่าวประกอบด้วย
(ก) การที่ THB และ THH ให้กู้ยืมเงินแก่ บริษัท ราชธานีพัฒนาการ (2014) จำกัด (RTD) ซึ่งเป็นบริษัทที่มีกลุ่มครอบครัววนาสินเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ในเดือนธันวาคมปี 2565 ถึงปี 2566 จำนวนทั้งสิ้น 6 รายการ คิดเป็นยอดเงินรวมทั้งสิ้น 145 ล้านบาท
(ข) การที่ THB ให้กู้ยืมเงินแก่ บริษัท ไทย เมดิเคิล กรุ๊ป จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ RTD เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในปี 2566 จำนวนทั้งสิ้น 1รายการ คิดเป็นยอดเงินรวมทั้งสิ้น 10 ล้านบาท
(ค) การที่ THH สั่งซื้อสินค้าจากบริษัทซึ่งจดทะเบียนจัดตั้งขึ้นในประเทศสิงคโปร์ แต่ไม่ได้มีการรับมอบสินค้าจริง ในปี 2566 จำนวนทั้งสิ้น 2 รายการ คิดเป็นยอดเงินรวมทั้งสิ้น 55 ล้านบาท
3. การเข้าทำรายการอันควรสงสัยตามข้อ 2 ข้างต้น เป็นการดำเนินการโดยฝ่ายบริหารบางส่วนของบริษัทย่อย ซึ่งเป็นการกระทำนอกอำนาจหน้าที่ ไม่ได้ปฏิบัติตามกฎระเบียบภายในที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของบริษัทย่อย ไม่ได้ปฏิบัติตามประกาศเรื่องรายการที่เกี่ยวโยงกันของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ฯ และไม่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการของบริษัทฯ
4. ณ ปัจจุบัน ยอดหนี้คงค้างของรายการอันควรสงสัยดังกล่าวรวมทั้งสิ้นประมาณ 105 ล้านบาท (ไม่นับรวมดอกเบี้ย)
5. บริษัทฯ ได้แจ้งให้ผู้สอบบัญชีของบริษัทฯ ทราบถึงรายการอันควรสงสัยดังกล่าวแล้วเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2567 และบริษัทฯ ขอให้ผู้สอบบัญชีให้ความเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับรายการอันควรสงสัยดังกล่าว โดยบริษัทฯ คาดว่า หากมีผลกระทบจะสามารถเปิดเผยผลกระทบทางการเงินนี้ได้ในงบการเงินรวมของไตรมาสที่สามที่กำลังจะจัดทำและเปิดเผยให้ผู้ลงทุนทราบต่อไป
6. บริษัทฯ ได้เริ่มดำเนินการแก้ไขเหตุการณ์ที่ตรวจพบเพื่อรักษามาตรฐานในการบริหารจัดการ โดยโยกย้ายบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการทำรายการอันควรสงสัยดังกล่าว ให้ออกจากตำแหน่งที่เกี่ยวข้องโดยทันที และได้ดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริง และอยู่ระหว่างการำาเนินการทางวินัย และ/หรือทางกฎหมายต่อผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำรายการอันควรสงสัยดังกล่าวจนถึงที่สุด เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของบริษัทฯและผู้ถือหุ้น
บริษัทฯ อยู่ระหว่างการวิเคราะห์ผลกระทบซึ่งอาจเกิดขึ้นต่อฐานะทางการเงิน ผลการดำเนินงาน และความเสี่ยงโดยรวมของบริษัทฯ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ก เพื่อให้มั่นใจว่าบริษัทฯ สามารถจัดการกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ บริษัทฯ อาจพิจารณาว่าจ้างที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญจากภายนอกตามความเหมาะสม เพื่อให้ความช่วยเหลือในการวางแผนแก้ไขและป้องกันความเสี่ยงเพิ่มเติม