2024-09-20 HaiPress
"ผู้ว่าการแบงก์ชาติ" ยืนยันไม่ปรับลดดอกเบี้ยตามธนาคารกลางสหรัฐ FED หลังเฟดลดดอกเบี้ย 0.50% เน้นย้ำดู 3 ปัจจัยหลัก และเน้นในประเทศ ควบคู่ Outlook Dependent
วันที่ 20 ก.ย. นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า จากกรณีที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ลดดอกเบี้ย 0.50% มองว่าตลาดรับรู้ไปบ้างแล้ว มีการคาดการณ์ไปแล้ว ทำให้เงินดอลลาร์อ่อนค่า และเงินบาทแข็งค่า ซึ่งเกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจมีไม่มาก โดยยอมรับว่าหลังจากเฟดลดดอกเบี้ย ได้มีแรงกดดันมาตลอด แต่ไม่ใช่เฟดลดและ ธปท. ต้องลดตาม
ทั้งนี้ เงินบาทแข็งค่า เกิดจากดอลลาร์อ่อนค่า และราคาทองคำทำสถิติสูงสุด ซึ่งมีผลต่อความเคลื่อนไหวค่าเงิน โดยผลของเฟดลดดอกเบี้ย เป็นการสะท้อนว่าสหรัฐให้ความสำคัญกับการซอฟต์แลนดิ้ง ในการดูแลเศรษฐกิจ
“ธปท. ไม่อยากเห็นค่าเงินบาทผันผวน โดยตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน บาทแข็งค่าขึ้น 3.1% และมีเงินไหลออกดีกว่าปีที่ผ่านมา ภาพรวมปี 66 เงินไหลออกเกือบ 10,000 ล้านบาท แต่ในปีนี้มีเงินไหลออก 2,200 ล้านบาท สิ่งที่ ธปท. ไม่อยากเห็นคือ สิ่งที่ทำให้เกิดความผันผวนและไม่สะท้อนปัจจัยพื้นฐาน เช่น การเก็งกำไร เงินร้อนที่เข้ามา ซึ่งปัจจุบันยังไม่เห็นสิ่งเหล่านี้ แต่ ธปท. จะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด”
ในส่วนนโยบายการเงินของไทย เน้นภายในประเทศ และดู 3 ปัจจัย ทั้งแนวโน้มเศรษฐกิจ เข้าสู่ระดับศักยภาพหรือไม่,เงินเฟ้อ เข้ากรอบเงินเฟ้อหรือไม่ และเรื่องเสถียรภาพระบบการเงิน โดยคำนึงถึงความภาพรวม
“การลดดอกเบี้ย จะส่งผลดีต่อลูกหนี้เก่าให้ภาระหนี้ลด แต่หนี้ใหม่อาจทำให้เกิดการก่อหนี้เพิ่มขึ้นหรือไม่ และไม่อยากเห็นจีดีพีพุ่งขึ้น จะมีผลต่อเสถียรภาพ แต่ก็ไม่อยากเหยียบเบรคจนกระทบต่อเศรษฐกิจ แม้หนี้น่าเป็นห่วงแต่ถ้าลดดอกเบี้ย ก็ไม่ได้มีผลต่อหนี้ที่เป็นดอกเบี้ยคงที่เป็นส่วนใหญ่”
นายเศรษฐพุฒิ กล่าวว่า จาก 3 ปัจจัย เรื่องแรกเศรษฐกิจ และเรื่องสองเงินเฟ้อ ยังใกล้เคียงกับคาดการณ์ แต่เรื่องสาม เสถียรภาพการเงิน ยังมีความเสี่ยงด้านเครดิต ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยต่อให้สถาบันการเงินเข้มปล่อยกู้
ขณะที่ดอกเบี้ยเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่เรามี แต่การลดดอกเบี้ยไม่ได้ลดภาระเท่ากับการปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องปรับโครงสร้างหนี้ทั้งก่อนและหลังที่ลูกหนี้มีปัญหา ซึ่งจะเป็นการลดภาระได้
“3 ปัจจัยในการพิจารณานโยบายดอกเบี้ย ตอนนี้ยังไม่เห็นอะไรที่ให้ภาพประเมินแตกต่างไปจากเดิม ซึ่งการลดดอกเบี้ยไม่ได้มีผลต่อดอกเบี้ยคงที่ (Fixed) ยืนยันว่าถ้ามีอะไรเปลี่ยนไป เช่น Outlook Dependent และเงินเฟ้อ ก็พร้อมพิจารณา โดยย้ำว่า Outlook Dependent เป็นกรอบในการตัดสินใจ และยืนยันไม่มีการประชุม กนง.นัดพิเศษ”