รมว.พาณิชย์ นัดพบผู้ว่า ธปท.ถกบาทแข็งกระทบส่งออก ชู 10 นโยบายดันเศรษฐกิจ การค้า

2024-09-17 HaiPress

พิชัย นัดคุย ผู้ว่าแบงก์ชาติ แก้ค่าเงินบาทแข็งกระทบส่งออก จี้ลดดอกเบี้ย-เติมสภาพคล่อง พร้อมมอบ 10 นโยบายกระทรวงพาณิชย์ กระตุ้นเศรษฐกิจ เน้นแต่นโยบายต่างประเทศ

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ในเร็วๆ นี้ เตรียมนัดพบกับนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อเสนอ 3 เรื่อง ให้แบงก์ชาติเข้าช่วยดูแลเศรษฐกิจและการส่งออก ได้แก่ 1.ขอให้ลดดอกเบี้ย เพราะขณะนี้เงินเฟ้อลดแล้ว และสหรัฐอเมริกาก็เตรียมลดดอกเบี้ยจึงควรปรับลง 2.แก้ค่าเงินบาทแข็งค่า ซึ่งขณะนี้ค่าเงินแข็งค่าเร็วมากเป็น 33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเพียงเดือนเดียวแข็งค่าขึ้นถึง 5-6% ผู้ส่งออกจะตายอยู่ไม่ได้ โดยเฉพาะสินค้าที่มีกำไรไม่สูงอย่างสินค้าเกษตร อาจจะขาดทุนได้ และ 3.ต้องการให้แบงก์ชาติเข้าดูแลการเพิ่มเม็ดเงินสภาพคล่องสู่ระบบเศรษฐกิจ เพราะปัจจุบันระบบของแบงก์ชาติได้ดูดเงินออกไปมาก จนทำให้เศรษฐกิจขาดสภาพคล่อง โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอี ที่ได้รับผลกระทบจากโควิดมาแล้ว ก็จะยิ่งอยู่อย่างยากลำบาก

ทั้งนี้ ที่ไปพบไม่ได้หมายถึงว่าจะมีปัญหาอะไรกับ ธปท. ซึ่งหากเศรษฐกิจไทยโต 5-6% โตร้อนแรง ก็ไม่ประเด็น แต่ตอนนี้จีดีพีโตเพียง 1.9% และส่วนใหญ่ก็เป็นรายได้ของเศรษฐี คนจนแทบไม่มีรายได้ แต่แบงก์ชาติกลับไม่ทำอะไร ทั้งที่จริงควรเข้ามามีบทบาท ช่วยกันคิดกันทำเพื่อเศรษฐกิจ ไม่ใช่มีหน้าที่กำกับดูแลอย่างเดียว หรือพอรัฐบาลจะทำอะไร จะคอยแต่ค้าน อยากให้ดูเหมือนสหรัฐ ก็ยังมีมาตรการคิวอีใส่เงินไปหลายรอบ จนเศรษฐกิจฟื้นกลับมาได้  

“ผมไม่เข้าใจวิธีคิดของแบงก์ชาติ ไม่รู้ว่าจบจากไหน พูดเหมือนคนไม่รู้เรื่องเศรษฐกิจ มีที่ไหนบอกไม่ควรเน้นจีดีพี ทั้งที่จริงจีดีพีหมายถึงรายได้ ซึ่งหากคนไม่มีรายได้จะมีความสุขได้อย่างไร โดยที่ผ่านมาประเทศไทย เน้นการทำนโยบายแบบคู่ขนาน คือ ดูอัล แทร็ก คือ การสร้างเศรษฐกิจให้เติบโตทั้งคนระดับบน และระดับล่าง ซึ่งเรื่องนี้นโยบายการเงินของแบงก์ชาติจะมีความสำคัญมาก มากกว่านโยบายทางการคลังเสียอีก”

นายพิชัย กล่าวว่า ได้มอบนโยบายการทำงานแก่ข้าราชการกระทรวงพาณิชย์ 10 ข้อ มีทั้งสานงานต่อและเพิ่มงานใหม่เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ ได้แก่ 1การลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ขยายโอกาส แก่ประชาชน เกษตรกร ผู้ประกอบการ และเอสเอ็มอี 2.บริหารความสมดุลระหว่างผู้บริโภค เกษตรกร และผู้ประกอบการ 3.ทำงานเชิงรุกระหว่างพาณิชย์จังหวัดและทูตพาณิชย์ เพื่อขับเคลื่อนสินค้าเกษตร เอสเอ็มอีออกสู่ต่างประเทศ 4.แก้ไขข้อจำกัดกฎหมาย โดยเฉพาะที่ล้าสมัย เพราะวันนี้โลกเปลี่ยนไปเร็วมาก 5.การขับเคลื่อนนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก ที่จะให้ความสำคัญกับคนตัวเล็ก เกษตรกร

6.การผลักดันการส่งออกให้เพิ่มขึ้น โดย 7 เดือนปี 67 เพิ่ม 3.8% ต้องการผลักดันให้เพิ่มอีก และเร่งเจรจาเอฟทีเอให้สำเร็จโดยเร็ว เพื่อดึงดูการลงทุนการค้า 7.ผลักดันการใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอที่ไทยมีอยู่ 15 ฉบับ 19 ประเทศ 8.การพานักธุรกิจไทยออกไปลงทุนในต่างประเทศ 9.การปรับโครงสร้างการส่งออกให้ทันสมัย เพราะที่ผ่านมาไทยเน้นกินบุญเก่าส่งออกสินค้าเดิมๆ จึงต้องหาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เช่น แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ และ 10.การส่งเสริมผู้ประกอบการผลิตสินค้ารักษ์โลก  

คำปฏิเสธ: บทความนี้ทำซ้ำจากสื่ออื่น ๆ วัตถุประสงค์ของการพิมพ์ซ้ำคือการถ่ายทอดข้อมูลเพิ่มเติมไม่ได้หมายความว่าเว็บไซต์นี้เห็นด้วยกับมุมมองและรับผิดชอบต่อความถูกต้องและไม่รับผิดชอบใด ๆ ตามกฎหมาย แหล่งข้อมูลทั้งหมดในเว็บไซต์นี้ได้รับการรวบรวมบนอินเทอร์เน็ตจุดประสงค์ของการแบ่งปันคือเพื่อการเรียนรู้และการอ้างอิงของทุกคนเท่านั้นหากมีการละเมิดลิขสิทธิ์หรือทรัพย์สินทางปัญญาโปรดส่งข้อความถึงเรา
©ลิขสิทธิ์2009-2020 วารสารธุรกิจไทย      ติดต่อเรา   SiteMap