จุลพันธ์ ชูโครงการ “1 ชุมชน 1 สรรพสามิต แชมเปี้ยน” จับคู่อาหารพื้นเมือง สนับสนุน Soft Power

2024-09-12 HaiPress

“จุลพันธ์” ชูโครงการ “1 ชุมชน 1 สรรพสามิต แชมเปี้ยน” ขับเคลื่อน ESG พร้อมจับคู่อาหารพื้นเมือง สนับสนุน Soft Power ขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานในพิธีมอบรางวัลโครงการ “1 ชุมชน 1 สรรพสามิต แชมเปี้ยน” รางวัลการประกวดความร่วมมือระหว่างสรรพสามิตพื้นที่และผู้ประกอบการสุราชุมชน ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชนด้วยภาษีสรรพสามิต โดยมีนโยบายในการส่งเสริมและขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชน ควบคู่กับการพัฒนาและยกระดับคุณภาพสุราชุมชนให้มีมาตรฐานสากล เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน อีกทั้งให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล เพื่อสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้ชุมชนตามนโยบายของรัฐบาล ที่ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียว และเศรษฐกิจชุมชน โดยกรมสรรพสามิตผนึกกำลังกับเครือข่ายต่างๆ ส่งเสริมและสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนและผู้ประกอบการ สนับสนุนและผลักดันโดยสรรพสามิตพื้นที่ เพื่อให้ชุมชนและผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงแหล่งทุน แหล่งความรู้ด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านการตลาด พลังงาน สิ่งแวดล้อม คุณภาพสินค้า และการผลิต 

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า กรมสรรพสามิตส่งเสริมแนวคิด สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล หรือ ESG เพื่อสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันและลดการใช้ก๊าซคาร์บอนของชุมชนและผู้ประกอบการ เพื่อเดินหน้าประเทศไทยสู่ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero ตามนโยบายของรัฐบาล ภายใต้การกำกับดูแลของ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ที่ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียว และเศรษฐกิจชุมชน

การที่กรมสรรพสามิตเดินหน้าสู่บทบาทใหม่ในการดำเนินนโยบายที่ให้ความสำคัญกับ ESG นอกจากจะเป็นแนวทางที่สอดคล้องกับบริบทโลกแล้ว ยังเป็นแนวทางที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ที่ส่งเสริมให้ประเทศไทยเปลี่ยนผ่านไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ด้วยการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียว เดินหน้าประเทศไทยสู่ความยั่งยืน

การดำเนินภารกิจหน้าที่ของสรรพสามิต รวมถึงการส่งเสริมแนวคิด ESG จึงเป็นพื้นฐานสำคัญของการประกวดโครงการ “1 ชุมชน 1 สรรพสามิต แชมเปี้ยน” ซึ่งแทรกอยู่ในทุกมิติของกระบวนการผลิตสุราชุมชนของผู้ประกอบการที่เข้าประกวด โดยมีสรรพสามิตพื้นที่ให้การสนับสนุนและผลักดันในด้านต่าง ๆ ดังนี้

• ด้านสิ่งแวดล้อม : การบำบัดน้ำเสีย การจัดการของเสีย การส่งเสริมการคัดแยกขยะและการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน 

• ด้านสังคม: การจัดการข้อร้องเรียนชุมชน ความปลอดภัยในโรงอุตสาหกรรม และสุขภาพแรงงานและสุขอนามัยโรงอุตสาหกรรม 

• ด้านธรรมาภิบาลและการกำกับดูแลที่ดี: แหล่งเงินทุน การทำบัญชีประจำวันและงบเดือนถูกต้อง การตรวจสอบแสตมป์ผ่าน Application Stamp อย่างสม่ำเสมอ 

การประกวดในครั้งนี้ มีผู้ประกอบอุตสาหกรรมสุราชุมชนเข้าร่วมประกวด จำนวน 97 แห่ง แบ่งเป็นจากภาคเหนือ 19 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 22 แห่ง ภาคกลาง 40 แห่งและภาคใต้ 16 แห่ง โดยมีผู้ผ่านเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศ 10 ราย แบ่งเป็น 2 ประเภทได้แก่ ประเภทสุราแช่ชุมชน และประเภทสุรากลั่นชุมชน ประกอบด้วย 

ประเภทสุราแช่ชุมชน

1. วิสาหกิจเกษตรชุมชนปลอดภัยสูง จังหวัดฉะเชิงเทรา 

2. วิสาหกิจชุมชนกลุ่มชมภูมัลเบอร์รี่อินทรีย์ จังหวัดอุดรธานี

3. บริษัท Chaesonwinery 2022 part จำกัด จังหวัดลำปาง

4. วิสาหกิจชุมชนสวนพ่อพอเพียง จังหวัดกำแพงเพชร

5. วิสาหกิจชุมชนสุราแช่ไร่โรงเรียนต่อยอด จังหวัดกระบี่

ประเภทสุรากลั่นชุมชน

1. ห้างหุ้นส่วนจำกัดบอสส์สปิริท จังหวัดชลบุรี

2. บริษัท ออนโซล แลบ แอนด์ ดิสทิลลารี่ จำกัด จังหวัดสกลนคร

3. วิสาหกิจชุมชนแก่งเสือเต้น จังหวัดแพร่

4. วิสาหกิจเกษตรชุมชนปลอดสารพิษสามชุกตลาดร้อยปี จังหวัดสุพรรณบุรี

5. วิสาหกิจชุมชนปักษ์ใต้ จังหวัดสงขลา 

โดยรางวัลชนะเลิศประเภทสุราแช่ชุมชน ได้แก่ หจก.แจ้ซ้อนไวน์เนอร์รี่ 2022 จังหวัดลำปาง และรางวัลประเภทสุรากลั่นชุมชน ได้แก่ วิสาหกิจชุมชนแก่งเสือเต้น จังหวัดแพร่

นายจุลพันธ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า “ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต และเจ้าหน้าที่กรมสรรพสามิต ได้ริเริ่มสร้างสรรค์โครงการ 1 ชุมชน 1 สรรพสามิต แชมเปี้ยน นี้ขึ้น สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลในเรื่องของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชนและเศรษฐกิจสีเขียว ในการสร้างรายได้และมูลค่าเพิ่ม รวมถึงยกระดับภูมิปัญญาไทยไปสู่วัฒนธรรมสร้างสรรค์ เพื่อส่งเสริม Soft Power ของประเทศ ในการยกระดับสินค้า OTOP ให้ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคทั่วโลกด้วยสุราชุมชน ซี่งภายในงานนี้ ยังต่อยอดการส่งเสริมสุราชุมชน ด้วยการจับคู่กับอาหารพื้นเมือง ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้อุตสาหกรรมอาหารของประเทศเติบโต และเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น 

ขณะเดียวกันยังเป็นการส่งเสริมนโยบายรัฐบาลในการสร้างความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในการเพิ่มขีดความสามารถของพื้นที่และชุมชนในท้องถิ่นในการจัดการกับปัญหาสิ่งแวดล้อม การบริหารจัดการน้ำ การจัดการกำจัดกากอุตสาหกรรม ซึ่งจะส่งผลต่อสังคมและชุมชนโดยรวม ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งเพราะมีความสำคัญต่อคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชน อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมและนำ ESG เข้าสู่ระดับชุมชน เพื่อเดินหน้าประเทศสู่ Net Zero ซึ่งจะเป็นการวางรากฐานในการสร้างความได้เปรียบให้ผู้ประกอบการในการแข่งขัน รวมถึงสร้างความยั่งยืนให้ชุมชนและประเทศชาติ”

นอกจากนี้ จากการที่กรมสรรพสามิตได้ดำเนินการปลดล็อกกฎหมายต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ตามนโยบายของรัฐบาล รวมถึงมาตรการของรัฐบาลในการได้ปรับลดอัตราภาษีสุราแช่พื้นเมือง ประเภท อุ กระแช่ สาโท โดยปรับอัตราภาษีตามมูลค่าจากเดิม 10% เป็น 0% เพื่อลดต้นทุนให้ผู้ประกอบการในการทำธุรกิจ และสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการ ได้ส่งผลให้สุราชุมชนเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยผู้ประกอบการที่ปฏิบัติตามกฎหมายและขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องกับกรมสรรพสามิต ต่างก็มีการเติบโตและสร้างรายได้เพิ่มขึ้นมากอย่างเห็นได้ชัด

ปัจจุบันผู้ประกอบการสุราชุมชนมีทั้งหมด 2,064 รายแบ่งเป็น ผู้ประกอบการสุราแช่ขนาดเล็กจำนวน 262 ราย  ขนาดกลาง 5 ราย  ผู้ประกอบการสุรากลั่นชุมชน ขนาดเล็ก 1,772 ราย และขนาดกลาง 25 ราย โดยมีปริมาณการชำระภาษีสุรากลั่นชุมชน  ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เปรียบเทียบกับปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ในช่วง 11 เดือนสูงขึ้น 468,968.01 ลิตร คิดเป็น 2.67% และรายได้ภาษีสุราชุมชนในช่วง 11 เดือนของปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เปรียบเทียบกับปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 สูงขึ้น 33,321,963.33 บาท คิดเป็น 3.47% ภาษีสินค้าสุราแช่ชุมชนปีงบประมาณ พ.ศ. 2567  ในช่วง 11 เดือน ในภาพรวมเพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 มากกว่า 38,968,171.19 บาท คิดเป็น 16.58%

คำปฏิเสธ: บทความนี้ทำซ้ำจากสื่ออื่น ๆ วัตถุประสงค์ของการพิมพ์ซ้ำคือการถ่ายทอดข้อมูลเพิ่มเติมไม่ได้หมายความว่าเว็บไซต์นี้เห็นด้วยกับมุมมองและรับผิดชอบต่อความถูกต้องและไม่รับผิดชอบใด ๆ ตามกฎหมาย แหล่งข้อมูลทั้งหมดในเว็บไซต์นี้ได้รับการรวบรวมบนอินเทอร์เน็ตจุดประสงค์ของการแบ่งปันคือเพื่อการเรียนรู้และการอ้างอิงของทุกคนเท่านั้นหากมีการละเมิดลิขสิทธิ์หรือทรัพย์สินทางปัญญาโปรดส่งข้อความถึงเรา
©ลิขสิทธิ์2009-2020 วารสารธุรกิจไทย      ติดต่อเรา   SiteMap