ออมสิน จับมือกรมป่าไม้นำร่องปลูกป่าอนุรักษ์แปลงแรก 1,600 ไร่ บนพื้นที่เขาหัวโล้น จ.เลย

2024-09-11 HaiPress

ออมสิน คิกออฟปลูกป่า 5 หมื่นไร่ ชดเชยคาร์บอนฟุตพรินต์ ตามแผน Net Zero 2050 จับมือกรมป่าไม้นำร่องปลูกป่าอนุรักษ์แปลงแรก 1,600 ไร่ บนพื้นที่เขาหัวโล้น จังหวัดเลย

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ตามที่ธนาคารประกาศแผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero Emissions Roadmap ภายในปี 2050 เพื่อมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาวิกฤติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยตั้งเป้า Net Zero ทั้ง 3 Scope รวมถึงกำหนดมาตรการสนับสนุนเพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอื่น ๆ เช่น การปลูกป่าทดแทนพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม และการอนุรักษ์ป่า รวม 50,000 ไร่ ภายใน 10 ปี เพื่อเพิ่มอาณาเขตป่าที่เป็นแหล่งดูดซับคาร์บอน ภายใต้ชื่อโครงการ “ปลูกป้องโลก” ซึ่งธนาคารได้คิกออฟการปลูกป่าออมสิน แปลงที่ 1 ขนาด 1,600 ไร่ ในพื้นที่เขตป่าสงวนแห่งชาติ อำเภอด่านซ้าย และอำเภอภูเรือ จังหวัดเลย

โดยได้รับเกียรติจากนายอนุพงศ์ คำภูแก้ว รองผู้ว่าราชการจังหวัดเลย นายสราวุฒิ บุญเกื้อ ผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 6 พร้อมด้วยคณะผู้บริหารและพนักงานธนาคารออมสิน นำโดย นางสาววชิรา การสุทธิ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการธนาคารออมสิน สายงานความยั่งยืน นายสุชาติ เจริญธรรม ผู้อำนวยการธนาคารออมสินภาค 10 และทีมงานทั้งจากธนาคารออมสิน ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และกลุ่มชาวบ้านที่เข้าร่วมโครงการกว่า 100 ชีวิต ได้ร่วมกันปลูกต้นกล้าพันธุ์ไม้ รวม 11 ชนิด เช่น ไม้สัก ไม้แดง ยางนา มะค่าโมง ประดู่ป่า ตะเคียนทอง ตะแบก ฯลฯ

“โครงการปลูกป้องโลก” เป็นมาตรการสนับสนุนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผน Net Zero 2050 ตามมติคณะกรรมการธนาคารออมสิน ตั้งเป้าปลูกป่าทดแทนป่าเสื่อมโทรมขนาดพื้นที่ 30,000 ไร่ และการอนุรักษ์ป่าขนาดพื้นที่ 20,000 ไร่ รวมจำนวนพื้นที่ป่าโดยธนาคารออมสินตลอดระยะเวลา 10 ปี (ปี 2567-2576) รวม 50,000 ไร่ คิดเป็นปริมาณคาร์บอนที่ดูดซับสะสมกว่า 35,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ (tCO2) โดยโครงการดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากกรมป่าไม้ในการจัดสรรพื้นที่ปลูกป่าทดแทนให้ได้ตามเป้าหมาย (ไม่รวมพื้นที่ป่าอนุรักษ์) นอกจากนี้ ยังสามารถสร้างรายได้จากการดำเนินการปลูกและบำรุงรักษาป่าให้กับชาวบ้านของชุมชนที่เข้าร่วมโครงการ และเป็นการปลูกฝังสร้างจิตสำนึกรักษ์สิ่งแวดล้อม และกระตุ้นการใส่ใจปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแก่ชุมชนต้นน้ำอีกด้วย

คำปฏิเสธ: บทความนี้ทำซ้ำจากสื่ออื่น ๆ วัตถุประสงค์ของการพิมพ์ซ้ำคือการถ่ายทอดข้อมูลเพิ่มเติมไม่ได้หมายความว่าเว็บไซต์นี้เห็นด้วยกับมุมมองและรับผิดชอบต่อความถูกต้องและไม่รับผิดชอบใด ๆ ตามกฎหมาย แหล่งข้อมูลทั้งหมดในเว็บไซต์นี้ได้รับการรวบรวมบนอินเทอร์เน็ตจุดประสงค์ของการแบ่งปันคือเพื่อการเรียนรู้และการอ้างอิงของทุกคนเท่านั้นหากมีการละเมิดลิขสิทธิ์หรือทรัพย์สินทางปัญญาโปรดส่งข้อความถึงเรา
©ลิขสิทธิ์2009-2020 วารสารธุรกิจไทย      ติดต่อเรา   SiteMap