สนค. ระดมสมอง 30 หน่วยงาน ทำแผนปฏิบัติการค้าสินค้าอุตสาหกรรม รอชง ครม. ใหม่

2024-09-05 HaiPress

สนค. ระดมสมอง 30 หน่วยงาน ทำแผนปฏิบัติการการค้าสินค้าอุตสาหกรรม ชง ครม.ชุด ใหม่ ดัน 4 แนวทางอัปเลเวล

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า สนค. ได้เปิดเวทีรับฟังความเห็นต่อร่างแผนปฏิบัติการเรื่อง การค้าสินค้าอุตสาหกรรม ภายใต้แผนปฏิบัติการด้านการค้าแห่งชาติ ปี 68-70 ผนึกกำลังจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนจำนวนกว่า 30 หน่วยงาน ร่วมแสดงทรรศนะ โดยที่ประชุมเห็นชอบ  4 ประเด็น

ได้แก่ 1.ยกระดับสินค้าอุตสาหกรรมให้สอดรับกับความต้องการตลาด 2.พัฒนาระบบนิเวศที่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการแข่งขัน 3.เร่งเสริมทักษะแรงงาน และ 4.สร้างภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในโลก

“ในปี 66 มูลค่าจีดีพี ภาคอุตสาหกรรมคิดเป็นสัดส่วน 30.43% ของจีดีพีไทย นอกจากนี้ สินค้าส่งออกสำคัญ 10 อันดับแรกของไทยยังเป็นสินค้าอุตสาหกรรมทั้งสิ้น โดยมีมูลค่าการส่งออกรวม 130,601 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 45.81% ของการส่งออกสินค้าทั้งหมดของไทย ดังนั้นจึงมีความสำคัญที่จะเร่งพัฒนาแผนปฏิบัติการอุตสาหกรรม ซึ่ง สนค. จะนำความคิดเห็นและข้อเสนอแนะไปปรับปรุง ก่อนนำไปรับฟังความเห็น กลางเดือน ก.ย. และจะเสนอแผนดังกล่าวต่อสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ก่อนเสนอต่อ ครม.ชุดใหม่ ให้ความเห็นชอบต่อไป”

สำหรับแผนปฏิบัติการเรื่อง การค้าสินค้าอุตสาหกรรม ใน 4 ประเด็นหลัก ประกอบด้วย

1.ยกระดับสินค้าอุตสาหกรรมให้สอดรับกับความต้องการตลาด โดยมุ่งสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าอุตสาหกรรมเดิม และส่งเสริมการเติบโตสินค้าอุตสาหกรรมใหม่ ด้วยการพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพและเป็นที่ต้องการของตลาด การแสวงหาวัตถุดิบที่หลากหลาย

2.พัฒนาระบบนิเวศที่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการแข่งขัน และลดทอนอุปสรรคทางการค้า อาทิ ส่งเสริมการลงทุนภาคอุตสาหกรรมทั้งในประเทศและต่างประเทศ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ขยายการเจรจาและส่งเสริมการใช้สิทธิประโยชน์ 

3.เร่งเสริมทักษะแรงงาน ทั้งการสนับสนุนการสร้างแรงงานใหม่ และการส่งเสริมทักษะแรงงานเดิม อาทิ ยกระดับทักษะ สมรรถนะ และศักยภาพของแรงงานในภาคอุตสาหกรรม ให้มีคุณภาพและมีมาตรฐาน พัฒนาหลักสูตรของสถาบันการศึกษาให้สามารถสร้างบุคลากรใหม่ที่มีศักยภาพ ตอบโจทย์อุตสาหกรรมใหม่

4.สร้างภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในโลก โดยการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีนวัตกรรม อาทิ สนับสนุนการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมไปสู่การทำธุรกิจฐานนวัตกรรม และการผลิตผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีขั้นสูง  

คำปฏิเสธ: บทความนี้ทำซ้ำจากสื่ออื่น ๆ วัตถุประสงค์ของการพิมพ์ซ้ำคือการถ่ายทอดข้อมูลเพิ่มเติมไม่ได้หมายความว่าเว็บไซต์นี้เห็นด้วยกับมุมมองและรับผิดชอบต่อความถูกต้องและไม่รับผิดชอบใด ๆ ตามกฎหมาย แหล่งข้อมูลทั้งหมดในเว็บไซต์นี้ได้รับการรวบรวมบนอินเทอร์เน็ตจุดประสงค์ของการแบ่งปันคือเพื่อการเรียนรู้และการอ้างอิงของทุกคนเท่านั้นหากมีการละเมิดลิขสิทธิ์หรือทรัพย์สินทางปัญญาโปรดส่งข้อความถึงเรา
©ลิขสิทธิ์2009-2020 วารสารธุรกิจไทย      ติดต่อเรา   SiteMap