เปิดสาเหตุ 3 ปัจจัย ‘เงินบาท-ราคาทอง’ มีแนวโน้มผันผวนสูง

2024-09-05 HaiPress

ttb analytics ชี้ทิศทางเงินบาทผันผวนสูง แนะภาคธุรกิจรับมือความเสี่ยง เปิด 3 ปัจจัยเคลื่อนไหวสอดคล้องราคาทอง

“ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี” หรือ ttb analytics ชี้แนวโน้มเงินบาทในช่วงต่อไปจะมีความผันผวนมากขึ้น จากความสัมพันธ์ระหว่างค่าเงินบาทและราคาทองคำที่เป็นไปในทิศทางเดียวกันมากขึ้นเมื่อเทียบกับในอดีต หลังเห็นพฤติกรรมของคนไทยที่นิยมลงทุนและเก็งกำไรในทองคำมากขึ้น

ความผันผวนของตลาดการเงินโลกในช่วงหลังซึ่งส่งผลบวกต่อการถือครองทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย ตลอดจนความเปราะบางของปัจจัยพื้นฐานด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะในช่วงหลังสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งทำให้ทองคำมีบทบาทต่อการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทมากขึ้น แนะภาคธุรกิจเตรียมพร้อมเครื่องมือทางการเงินรับมือกับความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นในระยะข้างหน้า

เข้าสู่ช่วงกลางไตรมาสที่ 3 ปี 2567 ค่าเงินบาทกลับมาผันผวนสูงขึ้นจากปกติราว 6-7% เป็น 9-10% ซึ่งผันผวนสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของสกุลเงินภูมิภาค ขณะเดียวกัน เงินบาทก็ปรับแข็งค่าขึ้นเร็วจากช่วงต้นไตรมาส 3 ที่เคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 36.7 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ มาอยู่ที่ระดับ 34.2 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ หรือ แข็งค่าขึ้น 7.9% เมื่อเทียบกับช่วงต้นเดือนกันยายน 2567 (MTD) ส่งผลให้ตั้งแต่ต้นปีเป็นต้นมา เงินบาทอ่อนค่าลงเพียง 0.3% (YTD)

ทั้งนี้ แม้การแข็งค่าของเงินบาทอย่างรวดเร็วในช่วงที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ ตามการปรับเพิ่มมุมมองการลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ ในปีนี้ แต่อีกปัจจัยที่สำคัญที่ส่งผลต่อค่าเงินบาท คือ การเคลื่อนไหวของราคาทองคำที่ผันผวนและกำลังเป็นขาขึ้นจนพุ่งสูงถึง 21% จากต้นปี ล่าสุดอยู่ที่ 2,492 ดอลลาร์สหรัฐต่อทรอยออนซ์ (ณ วันที่ 3 กันยายน 2567) ซึ่งสอดคล้องกับการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทมากกว่าค่าเงินสกุลอื่น ๆ

โดยหากเทียบความผันผวนของราคาทองคำในช่วงก่อนโควิด-19 (ปี 2558-2562) พบว่าราคาทองคำมีความผันผวนที่ต่ำกว่าปัจจุบัน เนื่องจากเป็นช่วงที่ราคาทองคำส่วนใหญ่เคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 1,000–1,500 ดอลลาร์สหรัฐต่อทรอยออนซ์ ประกอบกับค่าเงินบาทในช่วงดังกล่าวเป็นช่วงที่เงินบาทแข็งค่า จึงเป็นสาเหตุให้ผลตอบแทนของค่าเงินบาทถูกอธิบายด้วยผลตอบแทนราคาทองคำเพิ่มมากขึ้น

“ttb analytics” มองว่าความสัมพันธ์ระหว่างค่าเงินบาทและราคาทองคำมีการเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกันมากขึ้นจากช่วงก่อนสถานการณ์โควิด-19 โดยมีปัจจัยที่เป็นสาเหตุสำคัญ 3 ประการ ได้แก่

1.พฤติกรรมการลงทุนและเก็งกำไรทองคำของคนไทย

ไทยมีปริมาณการค้าทองคำเป็นลำดับต้น ๆ ของโลก และมีสัดส่วนเฉลี่ย 5 ปี ย้อนหลังอยู่ที่ 2.5% ของปริมาณการค้าโลก ซึ่งหากเทียบปริมาณการส่งออกทองคำกลุ่มดังกล่าวกับมูลค่า GDP ของไทยในช่วง 2 ปีหลัง จะพบว่ามีสัดส่วนเฉลี่ยที่ 1.3% สูงกว่าเมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะสัดส่วนการนำเข้าและส่งออกทองคำที่ไม่รวมเงินทุนสำรอง (Non-Monetary Gold) ของไทยที่ค่อนข้างสูง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการค้าทองคำเพื่อการลงทุนและเก็งกำไรในรูปแบบต่าง ๆ มากกว่าการนำเข้ามาเพื่อใช้สำหรับแปรรูปในอุตสาหกรรมภายในประเทศ

ทั้งนี้ พฤติกรรมของคนไทยที่นิยมลงทุนและเก็งกำไรในสินทรัพย์ทองคำมายาวนาน โดยตลาดในประเทศที่ยังนิยมการซื้อขายทองคำในรูปสกุลเงินบาททั้งจากร้านค้าทองคำ (ขายฝาก) และระบบซื้อขายออนไลน์ ขณะที่บางส่วนเป็นธุรกรรมซื้อขายทองคำออนไลน์ในรูปของสกุลดอลลาร์สหรัฐผ่านตลาดการเงินโดยตรง จึงทำให้ในช่วงที่ราคาทองคำมีการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงสูง และการซื้อขายทองคำโลกส่วนใหญ่เป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ จึงเกี่ยวข้องกับธุรกรรมด้านอัตราแลกเปลี่ยน กล่าวคือ หากราคาทองคำปรับเพิ่มขึ้นสูง นักลงทุนไทยมีแนวโน้มที่จะขายทองคำเพื่อทำกำไร ส่งผลให้มีธุรกรรมขายเงินดอลลาร์สหรัฐเพื่อแลกกลับมาเป็นเงินบาท

ในทางกลับกัน หากราคาทองคำปรับลดลง นักลงทุนไทยมีแนวโน้มจะซื้อทองคำ และทำให้เกิดธุรกรรมซื้อเงินดอลลาร์สหรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการซื้อขายทองคำโลกในช่วงเวลากลางวันของตลาดสหรัฐ ซึ่งเป็นเวลากลางคืนของประเทศไทยซึ่งส่วนใหญ่จะมีปริมาณธุรกรรมอัตราแลกเปลี่ยนน้อย ทำให้การเคลื่อนไหวของราคาทองคำในช่วงเวลากลางคืนของประเทศไทยยิ่งส่งผลต่อการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทอย่างมีนัย

2.มุมมองต่อการถือทองคำเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยในช่วงที่ตลาดการเงินโลกผันผวนมากขึ้นในช่วงหลัง

ช่วงหลังสถานการณ์โควิด-19 จนถึงปัจจุบัน พบว่าสินทรัพย์ทองคำมีบทบาทต่อการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินบาทมากขึ้น โดยราคาทองคำในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้นพร้อมกับความผันผวน จากการกระจายความเสี่ยงของนักลงทุน และจากคุณสมบัติการเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven) ท่ามกลางตลาดการเงินโลกที่มีความไม่แน่นอนสูง ตามทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลักของโลก ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังมีอยู่ รวมไปถึงความต้องการทองคำเพื่อรักษามูลค่าเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ และลดการพึ่งพาเงินดอลลาร์สหรัฐในระยะยาวของธนาคารกลางประเทศต่างๆ

3.ปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจไทยเปราะบางมากขึ้น

นับตั้งแต่หลังวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 เสถียรภาพด้านเศรษฐกิจของไทยก็กลับมาแข็งแกร่งมาโดยตลอด สะท้อนจากตัวเลขดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุลในระดับสูงติดต่อกันมายาวนานเฉลี่ย 4-10% ต่อ GDP อีกทั้งเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยยังสูงเกิน 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ดี ปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจไทยหลังพ้นสถานการณ์โควิด-19 กลับยังคงไม่สามารถกลับมาแข็งแกร่งเช่นในอดีต เมื่อประกอบกับภาพแนวโน้มเศรษฐกิจโลกในระยะเวลาข้างหน้าที่มีความไม่แน่นอนมากขึ้น ยิ่งเป็นปัจจัยหนุนให้ราคาทองคำเคลื่อนไหวในลักษณะผันผวนสูงต่อไป จึงมีความเป็นไปได้สูงที่ราคาทองคำจะยังคงส่งผลเพิ่มเติมต่อความผันผวนของค่าเงินบาทในระยะข้างหน้ามากขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่น ๆ ในภูมิภาค

“จากพฤติกรรมการลงทุนทองคำของไทย ความไม่แน่นอนของตลาดการเงินโลกที่สูงขึ้น โดยเฉพาะนโยบายการเงินของสหรัฐ กอปรกับปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจไทยที่ยังเปราะบาง ยังคงเป็นปัจจัยที่ทำให้แนวโน้มราคาทองคำยังมีบทบาทสำคัญต่อทิศทางค่าเงินบาท และทำให้ค่าเงินบาทเผชิญความผันผวนอยู่ในช่วงต่อไป ทั้งนี้ ผู้ที่มีความเกี่ยวข้องกับค่าเงินไม่ว่าจะเป็นผู้นำเข้า ผู้ส่งออก ผู้ลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเทศ หรือผู้ที่มีหนี้ในสกุลเงินต่างประเทศ ควรติดตามข้อมูลข่าวสารด้านเศรษฐกิจการเงินอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ ยังควรศึกษาและใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนอย่างเหมาะสม เพื่อลดความผันผวนและความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินบาทอย่างรวดเร็วในช่วงเวลาต่อไป”

คำปฏิเสธ: บทความนี้ทำซ้ำจากสื่ออื่น ๆ วัตถุประสงค์ของการพิมพ์ซ้ำคือการถ่ายทอดข้อมูลเพิ่มเติมไม่ได้หมายความว่าเว็บไซต์นี้เห็นด้วยกับมุมมองและรับผิดชอบต่อความถูกต้องและไม่รับผิดชอบใด ๆ ตามกฎหมาย แหล่งข้อมูลทั้งหมดในเว็บไซต์นี้ได้รับการรวบรวมบนอินเทอร์เน็ตจุดประสงค์ของการแบ่งปันคือเพื่อการเรียนรู้และการอ้างอิงของทุกคนเท่านั้นหากมีการละเมิดลิขสิทธิ์หรือทรัพย์สินทางปัญญาโปรดส่งข้อความถึงเรา
©ลิขสิทธิ์2009-2020 วารสารธุรกิจไทย      ติดต่อเรา   SiteMap