‘ผู้ว่าแบงก์ชาติ’ ยันไม่เห็นสัญญาณเงินฝืด ลั่นไม่ยึดติด พร้อมปรับดอกเบี้ย

2024-08-28 HaiPress

'เศรษฐพุฒิ' ผู้ว่าการ ธปท.ยืนยันไม่เห็นสัญญาณเงินฝืด มีเครื่องมือหลายอย่างไม่ได้ใช้นโยบายดอกเบี้ยอย่างเดียว พร้อมปรับเปลี่ยนดอกเบี้ย ไม่ได้ยึดติดจนเปลี่ยนแปลงไม่ได้

วันที่ 28 ส.ค. นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย Thailand Focus 2024 : Adapting to a Changing World ปาฐกถาพิเศษ “Thailand’s Monetary Policy Challenge: How to Manage the Risks in a Changing Global Environment” (ความท้าทายนโยบายการเงินไทย: บริหารความเสี่ยงในสภาวะแวดล้อมโลกที่เปลี่ยนแปลง) โดยระบุว่า ธปท.ยืนยันยังไม่เห็นสัญญาณเงินฝืด โดยใช้นโยบายเครื่องมือหลายอย่างไม่ได้ใช้นโยบายดอกเบี้ยอย่างเดียว

นายเศรษฐพุฒิ กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่สาขาต่างๆ ฟื้นตัวไม่เท่ากัน โดยเศรษฐกิจไตรมาส 4 ปี 2566 เติบโตติดลบ จีดีพีลดลง 0.5% จากไตรมาสก่อนหน้า จากผลของงบประมาณรัฐบาลล่าช้า ส่งออกฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1 ปี 2567 เติบโต 1.6% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน และจีดีพีไตรมาส 2 เติบโต 0.8% จากไตรมาสแรก

การฟื้นตัวจะดำเนินต่อไปในครึ่งหลังของปี และธนาคารแห่งประเทศไทยคาดว่า จีดีพีทั้งปี 2567 จะเติบโต 2.6% ซึ่งสอดคล้องกับประมาณการของหน่วยงานรัฐบาลอื่น และนักวิเคราะห์ ในขณะที่เงินเฟ้ออยู่ที่ 0.8% ในเดือนกรกฎาคม ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายเงินเฟ้อ 1-3% แต่เงินเฟ้อจะเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงครึ่งหลังของปี

“แม้เงินเฟ้อจะต่ำกว่าเป้าหมาย แต่ยังไม่เห็นสัญญาณเงินฝืด ราคาสินค้าเพียงบางรายการที่มีราคาลดลง แต่ยังไม่ลดลงในวงกว้าง ผู้บริโภคไม่ได้หยุดใช้จ่ายเพื่อรอให้ราคาสินค้าลดลงไปอีก”

ในการดำเนินนโยบายการเงิน คณะกรรมการนโยบายการเงินมีมติ 6 ต่อ 1 เสียง คงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.5% ต่อปี ในการประชุมเมื่อ 21 สิงหาคมที่ผ่านมา ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทยให้ความสำคัญกับแนวโน้มข้างหน้า มากกว่าที่จะอิงกับข้อมูลตลาด โดยให้ความสำคัญกับสามเรื่องดังต่อไปนี้

เรื่องแรก การเติบโตของเศรษฐกิจที่คาดว่าจะโต 2.6% ในปีนี้ และ 3% ในปีหน้า ระดับการเติบโตถือว่าไม่สูง แต่สอดคล้องกับศักยภาพในการเติบโตระยะยาวของไทยที่ระดับ 3% บวกลบ

ทั้งนี้ การเติบโตได้รับผลกระทบจากปัจจัยด้านประชากร โดยประชากรกำลังแรงงานลดลง การที่จะทำให้เศรษฐกิจเติบโตสูงกว่าระดับนี้ มีทางเดียวคือการเพิ่มผลิตภาพของแรงงาน การลงทุน การพัฒนาเทคโนโลยี การใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจะได้ผลระยะสั้นเท่านั้น ศักยภาพการเติบโตระดับนี้ถือเป็นภาวะปกติใหม่ของไทย (New Normal)

เรื่องที่สอง เงินเฟ้อไทยลดลง และกำลังกลับเข้าสู่เงินเฟ้อเป้าหมาย เศรษฐกิจไม่ได้ไหลลงสู่ภาวะเงินฝืด เงินเฟ้อไทยต่างจากประเทศอื่น เงินเฟ้อภาคบริการของไทยไม่สูง ค่าเช่าทรงตัวและดึงเงินเฟ้อลงเรื่องที่สาม คือ เสถียรภาพการเงิน ซึ่งถือว่าเป็นปัญหาท้าทายมาก จากปัญหาหนี้ครัวเรือนสูงถึง 90% ของจีดีพี ปัญหาน่ากังวลเพราะหนี้เงินกู้บ้านของไทยมีประมาณเพียง 1 ใน 3 เท่านั้น เทียบกับหนี้ครัวเรือนของประเทศพัฒนาแล้วที่หนี้จำนองบ้านถือเป็นส่วนใหญ่ของหนี้ครัวเรือน ยอมรับว่าแก้ไขยากและต้องใช้เวลา ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องการทำให้หนี้ครัวเรือนลดลงมาที่ระดับ 80% ต่อจีดีพี

นายเศรษฐพุฒิ กล่าวว่า จากที่ภาคเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวไม่เท่ากัน ภาคท่องเที่ยวและที่เกี่ยวข้องฟื้นตัวดี แต่ภาคการผลิตอ่อนแอ การฟื้นตัวของรายได้ของประชาชนก็ไม่เท่ากัน ผู้ประกอบอาชีพส่วนตัว เช่น แม่ค้า คนขับแท็กซี่ยังได้รับผลกระทบ รายได้ยังไม่ฟื้นตัวดี หลังจากที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากช่วงโควิดระบาด

แม้เศรษฐกิจมหภาคฟื้นตัว แต่ประชาชนทั่วไปไม่ได้รู้สึกว่าฟื้นตัวตามไปด้วย นอกจากนี้ ธปท.คาดสินเชื่อด้อยคุณภาพจะเพิ่มขึ้นไป แต่ไม่ถึงขั้นรุนแรง และคุณภาพสินเชื่อจะด้อยลงต่อไป

“นโยบายการเงินนั้น เน้นนโยบายผสมผสาน นโยบายดอกเบี้ยเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการหลายอย่าง และพร้อมปรับหากสถานการณ์เปลี่ยน ไม่ได้ยึดติดจนเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ธนาคารแห่งประเทศไทยให้ความสำคัญกับมาตรการรองรับความเสี่ยง เพราะสถานการณ์ในโลกไม่แน่นอนคาดการณ์ไม่ได้ จึงต้องทำนโยบายเผื่อไว้หลายๆ ทาง นอกจากนโยบายดอกเบี้ยก็ยังมีมาตรการอื่นๆ เช่น การให้เงินกู้อย่างรับผิดชอบของสถาบันการเงินเพื่อส่งเสริมการปรับโครงสร้างหนี้”

คำปฏิเสธ: บทความนี้ทำซ้ำจากสื่ออื่น ๆ วัตถุประสงค์ของการพิมพ์ซ้ำคือการถ่ายทอดข้อมูลเพิ่มเติมไม่ได้หมายความว่าเว็บไซต์นี้เห็นด้วยกับมุมมองและรับผิดชอบต่อความถูกต้องและไม่รับผิดชอบใด ๆ ตามกฎหมาย แหล่งข้อมูลทั้งหมดในเว็บไซต์นี้ได้รับการรวบรวมบนอินเทอร์เน็ตจุดประสงค์ของการแบ่งปันคือเพื่อการเรียนรู้และการอ้างอิงของทุกคนเท่านั้นหากมีการละเมิดลิขสิทธิ์หรือทรัพย์สินทางปัญญาโปรดส่งข้อความถึงเรา
©ลิขสิทธิ์2009-2020 วารสารธุรกิจไทย      ติดต่อเรา   SiteMap