สคบ. ซ้อมทำความเข้าใจ ก่อนออกประกาศคุมสินค้าเก็บเงินปลายทาง

2024-08-24 HaiPress

สคบ. ซ้อมทำความเข้าใจ ก่อนออกประกาศคุมสินค้าเก็บเงินปลายทาง เพื่อสร้างความปลอดภัยกับผู้บริโภค

เมื่อวันที่ 23 ส.ค. นายธสรณ์อัฑฒ์ ธนิทธิพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เปิดเผยว่า สคบ. ได้จัดโครงการซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่องให้ธุรกิจการให้บริการขนส่งสินค้าโดยเรียกเก็บเงินปลายทางเป็นธุรกิจที่ควบคุมรายการในหลักฐานการรับเงิน พ.ศ. 2567 เพื่อสร้างความเข้าใจในการปฏิบัติและสร้างการรับรู้ให้กับผู้บริโภคก่อนที่จะประกาศใช้

นายธสรณ์อัฑฒ์ธนิทธิพันธ์เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.)

ประกาศดังกล่าวครอบคลุมทั้งปัญหากรณีการเก็บเงินปลายทางที่มาจากการซื้อสินค้า  ผ่านทางช่องทางออนไลน์ และการเก็บเงินปลายทางกรณีอื่น ๆ ได้แก่ สั่งซื้อสินค้าแล้วได้รับสินค้าไม่ตรงกับที่สั่งซื้อ ไม่ได้สั่งซื้อสินค้าแต่มีสินค้าไปส่งแล้วเรียกเก็บเงินปลายทาง และสั่งซื้อสินค้าแล้วสินค้าที่ได้รับมีความชำรุดบกพร่อง โดยการกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจให้บริการขนส่งสินค้าจะต้องมีการจัดทำหลักฐานการรับเงินและส่งมอบให้แก่ผู้บริโภคทันทีที่ได้รับชำระค่าบริการ

โดยมีรายละเอียดของประกาศดังนี้

1.กำหนดให้ระบุรายละเอียดเกี่ยวกับผู้ส่งสินค้าอย่างน้อยให้ระบุ ชื่อและนามสกุลของบุคคลธรรมดา หรือชื่อนิติบุคคลที่อยู่ หมายเลขโทรศัพท์ อีเมล

2. กำหนดให้ระบุรายละเอียดเกี่ยวกับผู้ประกอบธุรกิจ อย่างน้อยให้ระบุ ชื่อและนามสกุล  ของบุคคลธรรมดา หรือชื่อนิติบุคคล ที่อยู่ หมายเลขโทรศัพท์ อีเมล

3. กำหนดให้ระบุรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับการส่งสินค้า ได้แก่ หมายเลขติดตามพัสดุข้อมูลพนักงานผู้นำส่งสินค้าและผู้รับเงินโดยเรียกเก็บปลายทางจากผู้บริโภคซึ่งเป็นผู้รับสินค้า เช่น ชื่อและนามสกุล หมายเลขโทรศัพท์มือถือ ข้อมูลของผู้บริโภคซึ่งเป็นผู้รับสินค้า เช่น ชื่อและนามสกุล ที่อยู่ หมายเลขโทรศัพท์มือถือ ข้อมูลของพัสดุ โดยระบุรายละเอียดของสินค้าที่แสดงให้ทราบว่าเป็นสินค้าอะไร จำนวนเงินที่เรียกเก็บปลายทาง วัน เดือน ปี ที่ส่งมอบสินค้า

4. กำหนดให้ผู้บริโภคสามารถเปิดดูสินค้าก่อนชำระเงินได้ หากตรวจแล้วพบว่ามีปัญหาสั่งซื้อสินค้าแล้วได้รับสินค้าไม่ตรงกับที่สั่งซื้อไม่ได้สั่งซื้อสินค้าแต่มีสินค้าไปส่งแล้วเรียกเก็บเงินปลายทางและสินค้าที่ได้รับมีความชำรุดบกพร่องผู้บริโภคสามารถปฏิเสธการชำระเงินและไม่รับสินค้าได้

5. กำหนดให้ผู้ให้บริการขนส่งสินค้าถือเงินค่าสินค้าเป็นระยะเวลา 5 วัน นับแต่วันที่ผู้บริโภครับสินค้าก่อนที่จะส่งเงินให้กับผู้ขายสินค้า หากผู้บริโภคแจ้งเหตุที่ขอคืนสินค้าและขอเงินคืนภายใน 5 วัน ว่าผู้บริโภคได้รับสินค้าที่ตนไม่ได้สั่งซื้อ หรือได้รับสินค้าไม่ตรงกับที่สั่งซื้อ หรือสินค้าที่ตนสั่งซื้อมีความชำรุดบกพร่อง และหากผู้ประกอบธุรกิจตรวจสอบว่ามีเหตุตรงตามที่ผู้บริโภคแจ้งมา ผู้ประกอบธุรกิจต้องคืนเงินให้กับผู้บริโภคภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากผู้บริโภค

6. ห้ามไม่ให้ผู้ประกอบธุรกิจระบุข้อความที่เป็นการยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดของผู้ประกอบธุรกิจและผู้ส่งสินค้า ข้อความที่กำหนดว่าห้ามไม่ให้ผู้บริโภคเปลี่ยนหรือคืนสินค้าไม่ว่ากรณีใด ๆ และข้อความจะไม่คืนเงินที่ผู้บริโภคได้ชำระมาแล้วไม่ว่ากรณีใด ๆ ซึ่งเป็นข้อความที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค

ทั้งนี้ หากผู้บริโภคถูกเอารัดเอาเปรียบหรือไม่ได้รับความเป็นธรรมสามารถร้องเรียนผ่านช่องทางต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นทางแอปพลิเคชัน OCPB Connect พูดคุยสอบถามกับ Chat Bot พี่ปกป้องได้ตลอด 24 ชั่วโมง ทางเว็บไซต์ www.ocpb.go.th หรือโทรศัพท์สอบถามข้อมูลได้ที่สายด่วน สคบ. 1166 หรือเดินทางมาด้วยตนเอง   ที่ศูนย์ราชการฯ อาคารรัฐประศาสนภักดี ถนนแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร และต่างจังหวัดสามารถร้องเรียนได้ที่คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคประจำจังหวัด ทุกจังหวัด

คำปฏิเสธ: บทความนี้ทำซ้ำจากสื่ออื่น ๆ วัตถุประสงค์ของการพิมพ์ซ้ำคือการถ่ายทอดข้อมูลเพิ่มเติมไม่ได้หมายความว่าเว็บไซต์นี้เห็นด้วยกับมุมมองและรับผิดชอบต่อความถูกต้องและไม่รับผิดชอบใด ๆ ตามกฎหมาย แหล่งข้อมูลทั้งหมดในเว็บไซต์นี้ได้รับการรวบรวมบนอินเทอร์เน็ตจุดประสงค์ของการแบ่งปันคือเพื่อการเรียนรู้และการอ้างอิงของทุกคนเท่านั้นหากมีการละเมิดลิขสิทธิ์หรือทรัพย์สินทางปัญญาโปรดส่งข้อความถึงเรา
©ลิขสิทธิ์2009-2020 วารสารธุรกิจไทย      ติดต่อเรา   SiteMap