2024-07-13 HaiPress
“พิมพ์ภัทรา” เปิดขั้นตอนต่อไปดันสินค้าฮาลาลไทย หลังประชุมคณะกรรมการนัดแรกจบ เร่งเครื่องยกระดับไทยสู่ศูนย์กลางฮาลาลอาเซียนปี 70 ชี้เป็นโอกาสปักหมุดประเทศไทยให้เป็นแหล่งผลิตสินค้า ชิงส่วนแบ่งตลาดฮาลาลโลก ประเมินมูลค่าตลาดปี 73 พุ่ง 184 ล้านล้านบาท
หลังจาก “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการอุตสาหกรรมฮาลาลแห่งชาติ (กอฮช.) เป็นประธานการประชุม กอฮช. ครั้งแรกในปีนี้ โดยมี “พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล” รมว.อุตสาหกรรม,“ณัฐพล รังสิตพล” ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมคณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม และผู้ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมฮาลาล เข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียงที่ทำเนียบรัฐบาล
ที่ประชุมได้แต่งตั้งคณะกรรมการอุตสาหกรรมฮาลาลแห่งชาติ ให้ “นลินี ทวีสิน” ผู้แทนการค้าไทย รับผิดชอบภารกิจที่เกี่ยวกับการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมฮาลาล และ “พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล” รมว.อุตสาหกรรม เป็นรองประธาน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นเลขานุการ พร้อมผู้แทนจากหน่วยงานที่มีบทบาทสําคัญในแวดวงฮาลาลไทย อีก 21 หน่วยงาน ทำหน้าที่กําหนดนโยบายและแนวทางในการพัฒนาสินค้าฮาลาล เชื่อมโยงเอกลักษณ์ Soft Power ของไทย รวมถึงบูรณาการแนวทาง มาตรการ แผนงานด้านการขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลของประเทศ ให้เกิดการดําเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ และผลักดันประเทศไทยให้เป็นผู้นําด้านการผลิตและการส่งออกสินค้าฮาลาลในภูมิภาค
ทั้งนี้ “เศรษฐา” ได้ย้ำถึงการจัดตั้งหน่วยงานที่มีบทบาทภารกิจในการเป็นหน่วยงานกลางที่รับผิดชอบเกี่ยวกับอุตสาหกรรมฮาลาลของประเทศอย่างครบวงจร ขอให้ขับเคลื่อนนโยบายและแผนการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลไทยให้บรรลุตามเป้าหมาย ติดตามและประเมินผลการดําเนินงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง ขยายตลาดและส่งเสริมการค้าสินค้าและบริการฮาลาลระหว่างประเทศ พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านสินค้าฮาลาล พัฒนาความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการเพื่อการส่งออก รวมทั้งส่งเสริมความร่วมมือทางธุรกิจสินค้าและบริการฮาลาล รวมถึงอยากเห็นศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาลไทยที่จัดตั้งแล้ว มีโครงสร้างการบริหาร กําลังคน รวมถึงงบประมาณที่ชัดเจน ภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรม
รวมทั้งการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลในพื้นที่ภาคใต้ โดยผลักดันการจัดตั้ง “นิคมอุตสาหกรรมฮาลาล” ในพื้นที่ภาคใต้ของไทย โดยจะสนับสนุนการสร้างนิคมอุตสาหกรรมฮาลาลในพื้นที่ภาคใต้อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อผลักดันให้เกิดการจ้างงาน การสร้างอาชีพ การเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานการผลิตและการบริการในพื้นที่ภาคใต้ และผลักดันให้ภาคใต้เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมฮาลาล เพื่อมุ่งสู่การสร้างความผาสุก ความกินดีอยู่ดีรวมถึงการพัฒนาที่คํานึงถึงสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดความมั่นคงและการพัฒนาอย่างยั่งยืนในพื้นที่ภาคใต้ ทั้งนี้ สินค้าปศุสัตว์ จะเป็นกลุ่มที่จะได้รับความสําคัญในการส่งเสริมและพัฒนา
สำหรับขั้นตอนการยกระดับไทยสู่ศูนย์กลางฮาลาลอาเซียน และปักหมุดสู่ฮาลาลโลกนั้น “พิมพ์ภัทรา” ในฐานะผู้ผลักดันตั้งแต่แรกเริ่ม นั้น เล่าให้เห็นภาพอย่างชัดเจนว่า อุตสาหกรรมฮาลาล เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่น่าสนใจ เนื่องจากประเทศไทยมีศักยภาพ และมีมาตรฐานในการผลิต สามารถกระจายรายได้ กระจายโอกาส สร้างเข้มแข็งทางเศรษฐกิจฐานรากของประเทศไทย สร้างความั่นคงให้แก่ประเทศ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้เห็นชอบตามแนวทางที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ ในการเร่งผลักดันให้เกิดศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาล ช่วยสนับสนุนและส่งเสริมการดำเนินงานของสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย รวมทั้งอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการ
ขั้นตอนต่อไปจะนำ (ร่าง) แผนปฏิบัติการฯ เสนอต่อสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เพื่อให้ความเห็นชอบ โดยแผนปฏิบัติการฯ ได้กำหนดผลิตภัณฑ์และบริการฮาลาลเป้าหมาย (ระยะแรก) ไว้ 5 กลุ่ม ได้แก่
1. อาหารฮาลาล เช่น เนื้อสัตว์ อาหารแปรรูป อาหารทะเล อาหารพร้อมรับประทาน อาหารฮาลาลโดยธรรมชาติ และอาหารมุสลิมรุ่นใหม่
2. แฟชั่นฮาลาล ประกอบด้วย สิ่งทอ อัญมณี เครื่องหนัง
3. ยา สมุนไพร เครื่องสำอางฮาลาล
4. โกโก้และผลิตภัณฑ์เกี่ยวเนื่อง
5. บริการและการท่องเที่ยวฮาลาล
ทั้งนี้ ภายใต้ (ร่าง) แผนปฏิบัติการฯ ปี 2567-2570 วางกรอบใช้งบประมาณทั้งสิ้น 1,230 ล้านบาท ประกอบด้วย 3 มาตรการ คือ 1.การส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศและสร้างความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทานการผลิตฮาลาลไทย
2. การพัฒนาการผลิตได้มาตรฐานอุตสาหกรรมฮาลาลไทย
3. การยกระดับปัจจัยแวดล้อมอุตสาหกรรมฮาลาลไทย โดยมีโครงการที่เป็น Quick Win (พ.ศ. 2567-2568) ใช้งบประมาณ 95 ล้านบาท ในการดำเนินงาน ได้แก่ สร้างการรับรู้ศักยภาพสินค้าและบริการอาหารฮาลาลไทย การขยายตลาดสินค้าและบริการอาหารฮาลาลไทยในประเทศและต่างประเทศ การจัดตั้งศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาลไทย และการจัดทำระบบ Halal IU ซึ่งจะเป็นฐานข้อมูลรายงานเชิงลึกและวิเคราะห์ตลาด เป็นต้น
“มูลค่าของตลาดการค้าอาหารฮาลาลโลกในปี 2567 อยู่ที่ 2.60 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 91 ล้านล้านบาท) และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 5.28 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 184 ล้านล้านบาท) ในปี 2573 หรือเพิ่มขึ้น 12.5% เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรมุสลิมโลกและการขยายตัวของเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศมุสลิม นับเป็นโอกาสสำคัญที่ประเทศไทยต้องเข้าไปมีส่วนร่วม และเป็นการปักหมุดประเทศไทย ให้โลกได้รู้ว่าเรามีศักยภาพในการผลิตสินค้าฮาลาล” รมว.อุตสาหกรรม กล่าว