2024-07-04 HaiPress
จุลพันธ์ ย้ำยันยกเลิกดิวตีฟรีขาเข้า 8 สนามบิน เป็นไปข้อตกลงด้วยดี รัฐไม่ต้องชดเชยสัมปทานให้เพิ่ม คาดใช้เวลา 1 เดือนยกเลิกเสร็จ ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจท่องเที่ยว 2 หมื่นล้าน
จากกรณี ครม.มีมติรับทราบแนวทางยกเลิก ร้านค้าปลอดภาษี ขาเข้า ใน 8 สนามบิน เมื่อวันที่ 2 ก.ค. 67 ล่าสุด นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ได้เปิดเผยถึงประเด็นนี้ว่า ภาครัฐไม่ได้ใช้อำนาจยกเลิกด้วยกฎหมาย แต่เป็นการเห็นพ้องด้วยดีกับผู้ประกอบการ และไม่มีการเรียกร้องขอชดเชยใด โดยเป้าหมายเพื่อต้องการกระตุ้นการบริโภคในประเทศ และสอดรับกับมาตรฐานสากลที่หลายสนามบินทั่วโลก เมื่อลงจากเครื่องบินจะไม่มีร้านซื้อสินค้าปลอดภาษีเข้าไปใช้ในประเทศได้อีก ดังนั้น คลังจึงเสนอให้มีการปรับเปลี่ยนไปตามเกณฑ์สากล โดยยกเลิกร้านปลอดภัยภาษีขาเข้า เพื่อกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ และช่วยให้รัฐจัดเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้น
“เมื่อปลายปีที่แล้ว ครม. และนายกฯ มีมติให้กระทรวงการคลังทำการศึกษาเรื่องนี้ ประกอบกับที่ผ่านมาทาง บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือเอโอที ก็ได้มีการพูดคุยกับผู้ประกอบการที่ได้รับสัมปทานร้านปลอดภาษีขาเข้าทั้ง 3 ราย ใน 8 สนามบิน ซึ่งทุกฝ่ายยอมรับที่จะยกเลิกพื้นที่ร้านค้าปลอดภาษีขาเข้าโดยไม่มีข้อแม้ใดๆ เมื่อเป็นเช่นนั้น คลังจึงนำเรื่องเสนอ ครม. อีกครั้ง โดยไม่จำเป็นต้องแก้กฎหมายกรมศุลฯใดๆ ส่วนขั้นตอน หลังจากนี้ เมื่อ ครม.มีมติรับทราบแล้ว ก็จะส่งเรื่องให้กระทรวงการคลัง และเอโอทีเข้าไปพูดคุยกับผู้ประกอบการ เพื่อดำเนินการยกเลิกซึ่งน่าจะใช้เวลา 1 เดือนก็จะแล้วเสร็จ“
นายจุลพันธ์กล่าวว่า ยืนยันว่าทางผู้ประกอบการ ดิวตี ฟรี ทั้ง 3 รายได้ทำหนังสือแสดงความยินดีที่จะยกเลิกร้านค้าภาษีขาเข้าโดยไม่มีข้อผูกมัดใดๆ และที่สำคัญไม่ได้เรียกร้องให้รัฐบาลชดเชยจากการสูญเสียรายได้ด้วย เพราะทั้งหมดล้วนมีสัมปทานร้านค้าปลอดภาษีขาออกอยู่แล้ว ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของธุรกิจมากกว่า ดังนั้นการยกเลิกร้านค้าปลอดภาษีขาเข้าจึงไม่กระทบต่ออย่างมีนัยยะ และยืนยัน ณ ตรงนี้ว่า รัฐบาลไม่มีการยืดอายุสัมปทานให้กับผู้ประกอบการรายใดรายหนึ่งเพื่อเป็นข้อแลกเปลี่ยนแต่อย่างใด
“ตัวเลขยอดจำหน่ายสินค้าผ่านร้านปลอดภาษีขาเข้า ผ่าน 8 สนามบินรวมกัน ในปี 66 ที่ผ่านมา อยู่ที่ประมาณ 3,400-3,500 ล้านบาท ซึ่งเราหวังว่าเมื่อมีการยกเลิกแล้วเงินจำนวนนี้จะถูกกระจายไปใช้จ่ายไปในประเทศ ช่วยร้านค้าขนาดกลาง ขนาดเล็กได้ประโยชน์ และเมื่อบวกกับผลกระทบทางการท่องเที่ยว เชื่อว่าจะมาตรการนี้จะช่วยกระตุ้นให้ค่าใช้จ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยวมากขึ้น และทำให้เกิดเงินหมุนเวียนในเศรษฐกิจโดยรวมกว่า 20,000 ล้านบาท”
ทั้งนี้ เบื้องต้นการยกเลิกร้านค้าปลอดภาษีขาเข้า จะทดลองทำก่อนเป็นเวลา 1 ปี หลังจากนั้นจะนำผลลัพธ์ไปวิเคราะห์ผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และเสนอให้ ครม.พิจารณาดูว่าควรทำอย่างไร ส่วนข้อกังวลที่ว่า การยกเลิกร้านปลอดภาษีขาเข้า จะทำให้คนไทยหรือนักท่องเที่ยว หันไปซื้อสินค้าจากต่างประเทศมากขึ้นแทน และทำให้เงินไหลออกไปนอกประเทศหรือไม่นั้น เรื่องเหล่านี้กระทรวงการคลังมองในหลายมิติ ซึ่งยอมรับว่าอาจมีบางกลุ่มที่ซื้อจากต่างประเทศเข้ามาเพิ่มได้แต่ภาพรวมต่อเศรษฐกิจก็ยังมีสูงกว่า ขณะที่คนที่ซื้อจากร้านปลอดภาษีขาออก และกลับมารับตอนขาเข้าก็ยังทำได้อยู่ มตินี้ไม่ได้มีการห้ามเอาไว้